ประกันสังคม เอาใจลูกจ้างเจ็บจากงาน กรณีเจ็บรุนแรงรับเพิ่มค่ารักษาได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท
ประกันสังคม ใจป้ำเพิ่มเงินค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จากการทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บรุนแรงสามารถเพิ่มค่ารักษาพยาบาลได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท เลขาธิการ สปส.แจงไม่หวั่นค่าใช้จ่ายช่วยแบ่งเบาภาระของลูกจ้างให้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งดำเนินงานตามนโยบายของ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความห่วงใยในความปลอดภัยของลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้ได้รับค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงานประกันสังคมมีกองทุนเงินทดแทนที่ให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนได้เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้างและไม่ให้เป็นภาระแก่นายจ้าง อย่างไรก็ดี สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับปรุงเพิ่มค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตรา ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย ให้จ่ายเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือ มีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐสามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า แนะนำนายจ้าง ในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมสำเนาหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท.44) ให้แก่ สำนักงานประกันสังคมที่สถานประกอบการของท่านที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ซึ่งการแจ้ง การประสบอันตราย นายจ้างและลูกจ้างต้องแสดงเอกสารใบเสร็จรับเงิน ประวัติการรักษาพยาบาล และหลักฐานการปฏิบัติงานประกอบการพิจารณา เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน รวมทั้งให้ข้อเท็จจริง โดยจะทำให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยได้รวดเร็วอีกด้วย
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้นายจ้างให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการ นอกจากจะช่วยลดอุบัติภัยและอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่ออัตราการส่งเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพราะหากมีการประสบอันตรายมากนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินสมทบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ขอให้นายจ้างช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย เพื่อลดปัญหาลูกจ้างประสบอันตราย กองทุนเงินทดแทนพร้อมดูแลลูกจ้าง ในระบบให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ ที่พึงมีพึงได้เพื่อการดำรงชีวิต อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้างต่อไปในอนาคต หากลูกจ้างมีปัญหา ข้อสงสัยติดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th