บี.กริม ร่วมมือกับพันธมิตรยกระดับพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย ตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล เยอรมนี

0
498
image_pdfimage_printPrint

การศึกษา มีองค์ประกอบหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ครูผู้สอน นักเรียน ระบบ การเรียนการสอน สถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ไม่แพ้กัน ครูผู้สอน ก็ถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะสร้างคนที่ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็กๆหรือระดับปฐมวัยกันเลยทีเดียว เพื่อให้เติบโตมาเป็นอนาคตของชาติที่สมบูรณ์แบบทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด สติปัญญา

ไม่ใช่เพียงแค่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ แต่ภาคเอกชนเองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างคนเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น และหนึ่งในความสนใจนั้นก็คือ ”โครงการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย” (Early Childhood Teacher Training Program in Collaboration with FROBEL Germany) โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บี.กริม.ได้จับมือกับบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และมูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี จัดทำโครงการฯนี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัย ตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล ประเทศเยอรมนี ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมานาน

ดร.ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์องค์กร บี.กริม. กล่าวว่า บี.กริม.ให้ความสำคัญกับการศึกษาของ เด็กไทยอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างความพร้อมเมื่อเด็กเติบโตขึ้นไป และที่ผ่านมา บี.กริม เองก็มีการดำเนินการไปแล้วหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดำเนินการเอง กับที่ร่วมมือกับพันธมิตร และได้รับการตอบรับที่ดี สำหรับโครงการใหม่นี้ที่ร่วมมือกับนานมีบุ๊คส์และโฟรเบล เกิดขึ้นมาก็เพราะว่า เรามองว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กจะต้องสามารถสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาให้ได้ ด้วยตัวเอง โดยพิจารณาจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางในการที่ทำให้คอนเซ็ปต์นี้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งครูผู้สอนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นเป้าหมายหลักในการที่จะต้องมีระบบที่มีศักยภาพให้ไปช่วยกันสร้างเด็กให้มีศักยภาพด้วย ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงหลักสูตรและระบบและทักษะการสอนด้วย

ด้านนางสาวคิม จงสถิตย์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า ช่วงเวลาของเด็กปฐมวัยมีความสำคัญมาก เราต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้เขาอย่างถูกวิธี ไม่ไปเน้นการเรียนการสอนแบบเร่งเรียนเขียนอ่าน แต่ต้องสอนให้รู้ถึงการพัฒนา การคิด การเล่นที่มีทักษะ การเรียนรู้ที่ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่มาจากประสบการณ์ตรง ปลูกฝังให้รู้จักการใช้ความสามารถในการพยายามแสวงหาสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง การร่วมมือกับ บี.กริม.ในการเปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย ครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่เป็นเลิศระดับนานาชาติ ด้วยการนำองค์ความรู้ และกระบวนการในกรพัฒนาครูระดับปฐมวัย ตามแนวทางของมูลนิธิโฟรเบล จากประเทศเยอรมนี มาปรับให้เข้ากับบริบทของคนไทยเพื่อพัฒนาครูในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ให้มีความพร้อมและความมั่นใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้จริง ให้เด็กได้มีโอกาสเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่ช่างสงสัย มีความสามารถ เอื้ออาทร และตอบแทนสังคม ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ทางมูลนิธิโฟรเบลมีแนวคิดเดียวที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มเด็กปฐมวัย ด้วยการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่มาจากประสบการณ์ตรง ปลูกฝังให้รู้จัก ช่างสังเกต ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง กระบวนการคิดแบบเป็นระบบนี้ หากเราสามารถปลูกฝังให้เกิดกับเด็กปฐมวัยได้ เด็กเหล่านี้ก็จะเติบโตไปเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพต่อไป

Tina Breternitz ทีมพัฒนาบุคลากรจากมูลนิธิโฟรเบล เยอรมัน กล่าวว่า มูลนิธิโฟรเบล มีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 181 แห่งในประเทศเยอรมัน ออสเตรเลีย และโปแลนด์ แต่ละสาขาจะมีแนวการจัดการเรียนรู้ที่ต่างกัน แต่ใช้หัวใจการเรียนรู้เดียวกัน โดยพัฒนาทักษะการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆผ่านแนวคิดแบบเรียนรู้ผ่านการเล่นและเรียนรู้แบบสืบเสาะ ที่ออกแบบเฉพาะให้กับเด็กๆเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงความ สงสัย ของเด็กๆ ให้เป็น การเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาทักษะ ทัศนคติ และองค์ความรู้แบ่งเป็นมืออาชีพด้วยความกระตือรือล้น

“เราให้ความสำคัญกับการศึกษาในระบบกับเด็กปฐมวัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นแต่ละความสามารถสร้างความเป็นปัจเจกบุคคล ความมั่นใจ ไร้อคติและเป็นบุคคลในสังคมที่มีความรับผิดชอบในสังคมประชาธิปไตยของพวกเรา เราส่งเสริมให้เด็กสร้างคุณค่าและพัฒนาศักยภาพของตนเอง พวกเราส่งเสริมนักการศึกษาและครูระดับปฐมวัยให้ได้รับการรับรองและเป็นที่ยอมรับในด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาอาชีพ โดยเสนอการอบรมทันสมัยที่สุดและการส่งเสริมคุณวุฒิการศึกษาด้านการศึกษาระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นอีกหัวข้อหนึ่งของสมรรถภาพของเด็ก”
ในมุมมองของ “ครูหวาน-ธิดา พิทักษ์สินสุข” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็ก กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ และอนุกรรมการเด็กเล็กในกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปประเทศ มองว่า ชีวิตช่วงปฐมวัยนั้นเปรียบเหมือนรากฐานของชีวิตคนเรา ที่สำคัญ ต้องสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุน ได้แสดงออกซึ่งศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ ถือเป็นความสามารถของครูผู้สอนว่า เราเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้หรือเปล่า เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเด็กไทยถูกสอนให้เป็นเหมือนแค่การท่องจำ แต่ความจริงแล้วการเรียนการสอนที่ดีที่สุดนั้น จะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการอ่าน การเล่า ซึ่งเด็กชาติไหนก็เหมือนกัน เป็นธรรมชาติของเด็กที่อยากเรียนรู้ แต่ถูกระบบปิดกั้นเอาไว้ จึงทำอะไรไม่ค่อยได้เต็มที่

อีกประการที่สำคัญคือ การสอนในบ้านเรายังยึดติดกับว่า ครูต้องสอนที่โรงเรียนและต้องเป็นผู้ให้ความรู้และข้อมูลกับเด็ก แต่ก่อนที่จะเฉลย เราเองต้องปล่อยเด็กที่มีวิธีการคิดหาสาเหตุหาคำตอบเอาเอง หรือ ที่เรียกว่า เรียนด้วยนการสืบค้น ร้เรียนด้วนยการเล่น เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ ปรับบทบาทของครูผู้สอนให้ครูเป็นผู้สนับสนุนเด็กให้ใช้ควมคิด หาสาเหตุด้วยตนเอง

“เด็กที่เรียนเก่งอย่างเดียวสมัยนี้มันจะตกรุ่นเอาได้ ดังนั้นนอกจากมีความเก่งอย่างเดียวแล้ว เด็กจะต้องมีความสามารถรอบด้าน มีจิตใจที่ดี มีวินัย เมื่อหน้าต่างของเด็กปฐมวัยเปิดแล้ว เราในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญ จะมอบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า เด็กปฐมวัยของไทยมีการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าล่าช้ากว่าปรกติมากถึง 30%”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัย ในประเทศไทยเราถือว่ายังมีความพยายามมากขี้นกว่าในอดีต ปัญหาหนึ่งคือ จำนวนครูผู้สอนเด็กปฐมวัยของเรายังมีน้อยไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กปฐมวัย อีกทั้ง ระบบของเราบางครั้งขาดความต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนามนุษย์นั้น ต้องเป็นกระบวนการไปตลอดไม่มีหยุด ไม่ใช่แค่ปฐมวัยเท่านั้ ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่า ประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มากถึงเกือบ 20,000 แห่งทั่วประเทศ และมีเด็กเล็กมากว่า 811,233 คน (สิ้นเดือนมีนาคม 2562) แต่การพัฒนาอย่างจริงจังยังทำไม่ได้เต็มที่นัก สิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์และทำก่อนได้เต็มที่ คือ การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่เป็นสนามให้เด็กในชุมชนนั้นมีโอกาสมาใช้ เป็นการเพิ่มทักษะให้กับเด็กแทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น “เรามีเป้าหมายที่จะสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ครบทุกแห่งทั่วประเทศไทย”

สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ที่สามารถสะท้อนได้อย่างดี ว่า การศึกษาในช่วงปฐมวัยนั้น มีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น โครงการพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย จึงน่าจะเป็นโครงการที่ดีและเหมาะสมแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพครูระดับปฐมวัย ตามแนวทางมูลนิธิโฟรเบล เยอรมนี มีรูปแบบบริการ จัดอบรมและเชิงปฎิบัติการแบบสาธารณะ และแบบจัดที่โรงเรียนหรือที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งสามารถจัดอบรมได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใน 2 หัวข้อ คือ
1. แนวทางการจัดการเรียนรู้ด้วยการเล่น (Play-based Learning) ในรูปแบบเยอรมัน ( German-Style Play-based Learning Approach)
2. แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ ( Inquiry-based Learning) สำหรับเด็กปฐมวัยในรูปแบบเยอรมัน ( German-Style Inquiry-based Learning Approach for Early Childhood )

โครงการฯนี้ตั้งเป้าหมายไว้ในปีแรกนี้ว่าจะมีครูเข้าฝึกอบรมรวมประมาณ 10 รุ่น ซึ่งขณะนี้เราเริ่มมีการแนะนำโครงการและรายละเอียดไปในวงกว้างและเจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายโดยตรงด้วยเช่นกัน นางสาวคิม กล่าวทิ้งท้าย