บิ๊กบี้ มุ่งคุ้มครองแรงงานประมง ใช้เทคโนโลยีช่วยตรวจแรงงาน จัดล่ามรับเรื่องร้องทุกข์

0
338
image_pdfimage_printPrint

กระทรวงแรงงาน ห่วงลูกจ้างเรือประมง หวั่นโดนละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมให้การดูแลสวัสดิการอย่างทั่วถึง และเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการร้องทุกข์ให้แก่แรงงาน
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรม การประมง ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงที่จะต้องดูแล เนื่องจากลักษณะงานเป็นงานที่มีความเสี่ยง ในเรื่องของการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้ความสำคัญเรื่องของความเป็นธรรมในการจ้างงาน รวมถึงการป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน ได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพการจ้าง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงาน และส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิการคุ้มครองอย่างถูกกฎหมาย และมีการเพิ่มโทษกับนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็ก อายุ 15 – 18 ปี ทำงานที่เสี่ยงและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ มีการบังคับใช้กฎหมายในเชิงรุกโดยให้ความสำคัญกับแรงงาน เพื่อป้องปราม มีการบูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการตรวจสอบที่ศูนย์ควบคุม แจ้งเรือเข้า – ออกของเรือประมง สำหรับเรือ ที่จะออกไปทำการประมง และคลังเข้าท่าเทียบเรือ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมถึงการรับวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับลูกจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย
ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานมีประสิทธิภาพ กสร. ใช้เทคโนโลยีในการช่วยตรวจแรงงาน โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนและตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง แรงงานประมง และเรือประมง มีการเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว ที่มาทำบัตรประจำตัวแรงงานประมง และได้มีการพัฒนาช่องทางการร้องทุกข์ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ ด้านภาษาเพื่อที่จะช่วยเหลือแรงงานให้เข้าถึงสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีล่ามภาษาประเทศเพื่อนบ้าน และภาษาอังกฤษไว้ให้บริการทางสายด่วน 1546 นอกจากนั้นเราได้มีการสร้างการรับรู้และตระหนักรู้ โดยการอบรม ให้ความรู้ เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ นายจ้าง ลูกจ้าง และเครือข่ายการทำงาน มีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ อาทิเช่น สื่อวีดีทัศน์ เอกสารแผ่นพับ มัลติมีเดียหลายถาษา เช่น ภาษาพม่า ภาษาลาว และภาษากัมพูชา โดยการสรุปสาระสำคัญที่ควรรู้ สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ให้มีช่องทางการรับรู้ด้านสิทธิแรงงาน ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่แรงงานทุกคน และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้จึงต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้แรงงานทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น