บิ๊กบี้ ปรามนายจ้างใช้เด็กต้องทำตามกฎหมาย ฝ่าฝืนเจอโทษหนักปรับหลักแสน บังคับใช้ ๒๓ กุมภาฯนี้

0
389
image_pdfimage_printPrint

บิ๊กบี้ ปรามนายจ้างใช้เด็กต้องทำตามกฎหมาย
ฝ่าฝืนเจอโทษหนักปรับหลักแสน บังคับใช้ ๒๓ กุมภาฯนี้
กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้างใช้เด็กทำงานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีโทษหนักตามกฎหมายใหม่ซึ่งจะใช้บังคับ ๒๓ กุมภาฯ นี้ โทษต่ำสุดปรับ ๔ แสนบาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน นายจ้างสงสัย
ถามสายด่วน ๑๕๔๖
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นี้ ได้กำหนดเพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กให้เพิ่มสูงขึ้น โดยมีโทษขั้นต่ำคือปรับ ๔ แสนบาทต่อลูกจ้าง ๑ คน ทั้งนี้การจ้างแรงงานเด็กตามกฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีการจ้างแรงงานเท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้เด็กทำงานในครอบครัว หรือช่วยงานในกิจการแต่อย่างใด สำหรับการปรับอัตราโทษให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นการคุ้มครองเยาวชนอนาคตของชาติไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควรและการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการป้องปรามไม่ให้นายจ้างแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็กที่
ผิดกฎหมาย ซึ่งมีความร้ายแรงกว่าการทำผิดกฎหมายแรงงานในความผิดอื่น ๆ จึงขอฝากเตือไปยังนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานเด็กให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตามกฎหมายฉบับนี้มี ๓ กรณีด้วยกัน คือ การจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเข้าทำงาน การให้ลูกจ้างเด็กทำงานอันตราย และการให้ลูกจ้างเด็กทำงานในสถานที่ห้ามทำ โดยอัตราโทษสำหรับความผิดดังกล่าวคือปรับตั้งแต่ ๔ แสนบาท ถึง ๘ แสนบาท นอกจากนี้กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กทำงานอันตรายหรือสถานที่ที่ห้ามทำจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย นายจ้างจะได้รับโทษเพิ่มมากขึ้นคือ ปรับตั้งแต่ ๘ แสนบาท ถึง ๒ ล้านบาท ต่อลูกจ้าง ๑ คน หรือจำคุกไม่เกิน ๔ ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ หากนายจ้างหรือเจ้าของ
สถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔ ๕๗๑๗๐,
๐ ๒๒๔๖ ๖๓๘๙ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขตทั้ง ๑๐ เขต สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖

—————————————————————————-