บางกอกกล๊าส หรือบีจี ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ เดินหน้าต่อยอดธุรกิจครั้งใหญ่หลังการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรทั้งภายนอกและภายในเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมกระจกอย่างเต็มตัว ตามแผนระยะสั้น 3-5 ปี สู่วิชั่นการดำเนินธุรกิจแก้วอย่างครบวงจร พร้อมร่วมต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ จับมือผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากสวิตฯ ขยายกำลังการผลิตทั้งในส่วนกระจกแผ่น รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท มั่นใจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำผู้นำผลิตภัณฑ์แก้วที่คลอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ
นายปวิณ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์แก้วครบวงจร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า “บริษัท บางกอกกล๊าสฯ ได้พัฒนาศักยภาพการเติบโตในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี ประกอบกับการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างไม่หยุดนิ่ง สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย จนก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แก้วในแถบ AEC และเพื่อยืนยันในเจตนารมย์ ในการก้าวขึ้นสู่ความเป็น TOTAL GLASS SOLUTIONS
โดยในปี 2560 หลังบริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตและตอบสนองการขยายการลงทุนใหม่ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ พร้อมดำเนินนโยบายเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายและสาธารณะชนทั่วไป ซึ่งเป้าหมายการรีแบรนด์ในครั้งนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่เพิ่มหน่วยธุรกิจ (BU) ใหม่ แต่ต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้างขององค์กรและนโยบายขององค์กร จากการมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ มาเป็นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วครบวงจร โดยเริ่มต่อยอดสู่ธุรกิจกระจกแผ่น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะขยายไปสู่กลุ่มวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย
และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการปรับภาพลักษณ์ในครั้งนี้ ด้วยสโลแกนที่ว่า Invent to Inspire พลังสร้างสรรค์ไม่มีวันหมด จากแรงบันดาลใจที่พบว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจำนวนมาก มีชิ้นส่วนที่ทำมาจาก เราเลยมองว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะขยายไปสู่ธุรกิจอื่นที่ต่อยอดมาจากแก้ว ดังนั้นโจทย์ก็เลยหันไปทาง glass solution ซึ่งเราก็คิดว่า step แรกของเราคือตัว basic glass หรือ กระจกแผ่น ที่จะตอบโจทย์ในการสร้างมูลค่าต่อไปในอนาคต เพราะว่าประเทศไทยยังมีผู้ผลิตกระจกแผ่นอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ และเรายังมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดในส่วนนี้ ซึ่งการที่เราเป็นผู้ผลิตกระจกเองนั้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และสามารถเพิ่มมูลค่ากระจกโดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้ารวมไปถึงการพัฒนาตัว Low Energy Glass ให้มันสมดุลกับราคาที่ไม่แพงเหมือนกับการนำเข้า แล้วก็เซ็ตมาตรฐานให้เป็นรูปธรรมในระดับสากล ซึ่งเราได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาจาก บริษัท กลาส เทรอช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาร่วมพัฒนาการผลิตในส่วนนี้ด้วย” นายปวิณกล่าว และเพิ่มเติมว่า
“นอกจากนี้ ในส่วน ของการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเราให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องนั้น ในปีนี้เรา จะเปิด Glass Academy ขึ้นมา ซึ่งได้เทคโนโลยีและความรู้ จากพันธมิตรจากต่างประเทศ ในความร่วมมือเพื่อพัฒนาตัวบุคลากรของบริษัทฯ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้ทันการเติบโตของธุรกิจ คาดว่าการลงทุนในส่วนนี้ จะเห็นผลในอีก 5 ปีข้างหน้า และต่อไปในระยะยาว”
“ภาพรวมความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดและกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิต 3,335 ตันต่อวัน กำลังการผลิตประมาณ 4,500 ล้านขวดต่อปี โดยในส่วนบรรจุภัณฑ์ขวด ประมาณ 50 % ผลิตให้กับเครือบุญรอด อีก 50 % ให้ลูกค้าภายนอก หลักๆ เป็น อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขวดยา และอีก 6-7% จะเป็นตลาดส่งออก ”
สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้า การเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์แก้วครบวงจร ทางบริษัทฯ จึงได้เดินหน้าขยายฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ รองรับการเติบโตของธุรกิจ และต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น ระยอง ปราจีนบุรี และอยุธยา รวมกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วปัจจุบัน 3,335 ตันต่อวัน
โดยบริษัทฯ เดินหน้าขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มขึ้น 320 ตันต่อวัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,655 ตันต่อวัน พร้อมขยายและต่อยอดธุรกิจกระจก BGF โดยจับมือกับพันธมิตร บริษัท กลาส เทรอช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดตั้งโรงงานผลิตกระจกแห่งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2560 มีกำลังการผลิต 219,000 ตันต่อปี งบประมาณก่อตั้งโรงงานกระจก ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริษัท ฯ ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อให้สอดรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบด้วย การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจผ่านการบริการและส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปสู่ลูกค้าต่อไป” นายปวิณ กล่าวสรุป