1

บอร์ด “อาร์เอส” เมินร่วมโครงการ MRB มีมติใช้นีลเส็นฯ เจ้าเดิมวัดเรตติ้งต่อไป

IMG_7241cut1

บอร์ด “อาร์เอส” เมินร่วมโครงการ MRB
มีมติใช้นีลเส็นฯ เจ้าเดิมวัดเรตติ้งต่อไป

ลาดพร้าว-นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่สมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยได้ส่งเอกสารรายละเอียดของโครงการวิจัยวัดระดับความนิยม (เรตติ้ง) ของสถาบันวิจัยพัฒนาสื่อ (Media Research Bureau – MRB) พร้อมจดหมายสอบถามความคิดเห็นในการเข้าร่วมโครงการฯ นั้น ทางบริษัทฯ ได้ศึกษารายละเอียดของโครงการฯ อย่างละเอียดและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ผลปรากฎว่าคณะกรรมการบริษัทฯ ไม่อนุมัติให้เข้าร่วมโครงการนี้

โดยมีเหตุผล ดังนี้ 1. งบประมาณในการดำเนินโครงการที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัทใช้อยู่ในปัจจุบันมาก อีกทั้งงบประมาณที่จะต้องใช้ยังเป็นอัตราที่ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการในแต่ละช่วงเวลา จึงยากต่อการบริหารจัดการ ตลอดจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นโครงการเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า1ปีก่อนที่จะมีผลเรตติ้งออกมาใช้ได้

2. สัญญาการเข้าร่วมโครงการฯระบุระยะเวลาผูกพันที่ยาวนานถึง 5 ปีนั้น ถึงแม้ระบุว่าสามารถยกเลิกได้ก่อนกำหนดแต่บริษัทฯ ต้องรับภาระงบประมาณในส่วนที่ยังเหลืออยู่ของโครงการฯ ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกสัญญาไม่ได้นั่นเอง

3.โครงสร้างการจัดการที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียจากผลของเรตติ้งมาเป็นเจ้าของข้อมูล และมีอำนาจในการบริหารจัดการข้อมูล เพราะเรตติ้งเอเจนซี่ที่เลือกมาอยู่ในฐานะของผู้ให้บริการเท่านั้น มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในอนาคตและเกิดความขัดแย้งเมื่อผลเรตติ้งออกมาไม่เป็นไปตามคาดหมาย และด้วยโครงสร้างของการจัดตั้งโครงการจะทำให้หาทางออกได้ยาก

4.มองว่านีลเส็นฯ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยรายปัจจุบัน ได้ยืนยันแผนการเพิ่มกลุ่มตัวอย่าง 3,000 บ้านที่จะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2560 ซึ่งด้วยวิธีการทางสถิติถือได้ว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมในการให้ค่าเรตติ้งที่แม่นยำเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน ทั้งนี้ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2200 บ้านในปัจจุบันก็ถือว่าเหมาะสมแล้วเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของประชากรในประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกภูมิภาคและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก

5.นีลเส็นฯ บริษัทวิจัยรายปัจจุบันได้ยืนยันการวัด Total Audience Measurement (Multi-Screen Rating) ที่จะเริ่มให้บริการได้ในปีพ.ศ. 2559 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้ทดลองทำการวิจัยในลักษณะเดียวกันนี้ ในตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีผลการวิจัยเป็นเครื่องยืนยันวิธีการสำรวจเรตติ้งในมิติใหม่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ ใช้บริการกับบริษัทวิจัยรายเดิม คือ บริษัท นีลเส็นประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการวิจัยวัดระดับความนิยม (เรตติ้ง)ในปัจจุบันและไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายใดในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย