นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2562 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นบลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด หรือ The Most Trusted Asset Management Company โดยวางนโยบายให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก ผ่านแนวทางการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการบริหารกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดี การบริการและพัฒนาประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าต่อบลจ. รวมถึงการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีกองทุนที่บริหารจัดการครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพผสานกับกระบวนการลงทุนแบบเชิงรุก (Active) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการบริหารกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนภายใต้การบริหารที่ได้ Morningstar 4 – 5 ดาว กว่า 20 กองทุน ทั้งกองทุนไทยและต่างประเทศในทุกประเภทสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และผสม นอกจากนี้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ได้คัดเลือกกองทุนต่างประเทศที่มีคุณภาพและเกือบทุกกองทุนที่เลือกลงทุนได้รับการจัดอันดับ Morningstar ในระดับ 4 – 5 ดาวเช่นกัน โดยบริษัทฯ มีการติดตามดูแลกองทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาคุณภาพของกองทุนที่คัดเลือกมาให้ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลด้วยการต่อยอดนำระบบ AI และ Machine Learning มาขยายการลงทุนไปทั่วโลก รวมถึงนำมาใช้กับการลงทุนใน FX, ตราสารหนี้ ตลอดจนนำมาใช้ในการจัดสรรสินทรัพย์ และการทำ Market Timing โดยปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์ได้เริ่มนำระบบการประมวลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural Language Processing (NLP) เข้ามาใช้ประมวลผลข้อมูลที่เป็นข้อความ (text data) จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพิจารณาเลือกหุ้นที่จะลงทุนซึ่งมีความแม่นยำค่อนข้างสูง
“ปีที่ผ่านมาเราได้ทดลองนำข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ซึ่งมีเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยการแปลงให้เป็น sentiment score เพื่อใช้เลือกหุ้นที่จะลงทุนซึ่งเมื่อทดลองแล้วเห็นผลที่ค่อนข้างแม่นยำ จึงมีแผนจะขยายการนำข้อมูล text จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ มาใช้เพิ่มขึ้น เช่น ข้อมูลจาก social media FB, twitter, หรือการค้นหาคำใน google เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับ factor ของกองทุนให้มากขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้วางเป้าหมายให้บลจ.ไทยพาณิชย์เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้วยการเร่งพัฒนา SCBAM Digital Platform เพื่อนำเสนอบริการและให้ข้อมูลข่าวสารความรู้กับลูกค้าได้อย่างครบวงจร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ครอบคลุม เช่น SCBSETE ซึ่งเป็นกองทุนฟรีค่าธรรมเนียมเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านทางดิจิทัล สำหรับ SCBAM Line Official พร้อม Chatbot ยังเป็นช่องทางการสื่อสารตรงถึงลูกค้าผ่านออนไลน์แชทสำหรับให้ลูกค้าสอบถามข้อมูลกองทุนต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมข้อมูลอัพเดทต่าง ๆ อย่างทันสถานการณ์ และ SCBAM website โฉมใหม่ที่มีการวางแผนการลงทุนเฉพาะบุคคล สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่อาจเพิ่งเริ่มลงทุน รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ผ่าน Social Media เช่น Facebook และ YouTube ทั้งนี้ การขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ได้ทำเพียงเฉพาะช่องทาง SCB และ SCBAM เท่านั้น แต่รวมถึงตัวแทนขายต่าง ๆ ด้วยที่บลจ.จับมือกับตัวแทนขายใหม่ๆ ที่เป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม โดยคาดบรรลุเป้าหมายผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล 400,000 รายในปีนี้
นอกจากนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ยังได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าสถาบันทั้งกองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะพอร์ตตราสารหนี้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
ปัจจุบัน บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 รวม 1,502,695.16 ล้านบาท ยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.63 % ซึ่งกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 สูงถึง 423,847.82 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 42.7% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557 ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 อยู่ที่ 116,487.37 ล้านบาท และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 อยู่ที่ 962,359.97 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 146,070 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20,250 ล้านบาท (ที่มา: ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ วันที่ 31 มกราคม 2562)
ด้านนางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ มองภาพรวมการลงทุนปี 2562 ว่าตลาดจะมีความผันผวนลักษณะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทำให้นักลงทุนสามารถหาจังหวะทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ตลาดหุ้นทั้งตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ ต่างก็ให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยหุ้นไทยบวก 5% หุ้นโลกบวกกว่า 10% แตกต่างกันกับช่วงปลายปีที่แล้วที่เกือบทุกตลาดติดลบ จะมีแค่คนที่ถือเงินสดกับทองคำที่เป็นบวก สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกจากปรับตัวลง 10% กว่าในปลายปี 2561 มาเป็นบวก 10% กว่าในปี 2562 นี้เป็นเพราะประเด็นความเสี่ยงที่ตลาดเคยกังวลว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะงักลงมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ดูผ่อนปรนมากขึ้นจากการใช้นโยบายการเงิน จากที่ขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีที่แล้ว และมีส่งสัญญาณใน dot-plot จะขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2562 (เดือนกันยายน) แต่เดือนธันวาคมกลับกลายปรับลงเหลือ 2 ครั้ง และในการประชุมครั้งล่าสุดเริ่มมีการพูดถึงการหยุดลดขนาด Balance Sheet ไม่เพียงแต่ทาง Fed ยังมีธนาคารกลางยุโรป ด้วยที่เริ่มมีการพูดถึงโอกาสที่จะทำโปรแกรมอัดฉีดเงินอีก (LTRO) รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดูใกล้จะหาข้อตกลงกันได้ ซึ่งการที่รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อพยุงเศรฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งการปรับลดอัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์สำรองต้องกันสำรอง (Required Reserve Ratio : RRR) 1% และเพิ่งประกาศปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 2 ล้านล้านหยวน
ทั้งนี้มุมมองดังกล่าวนี้เป็นตัวหนุนตลาดที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ยังมองว่าการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาด้วยความคาดหวังเหล่านี้ที่อาจจะดูสวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ทยอยออกมาไม่ดี โดยดูจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ออกมาทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ก็ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ (จีนและยุโรปต่ำกว่า 50 หมายถึงเศรษฐกิจชะลอตัว) รวมถึงการปรับผลกำไรคาดการณ์ของบริษัทจดทะเบียนลง จะส่งผลให้ตลาดมีโอกาสผันผวนได้ถ้ายังไม่เห็นสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สำหรับมูลค่าพื้นฐาน (Valuation) ตลาดส่วนใหญ่กลับมาที่จุดระดับค่าเฉลี่ยไม่ได้ถูกไม่ได้แพงจนเกินไป จะมีเพียงตลาดจีน และไทยที่เห็นว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากซื้อขายที่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PE 15.5 เท่า และจีนเองก็มีมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ในขณะที่ไทยจะมีความชัดเจนจากการเลือกตั้ง
สำหรับนักลงทุนที่จัดพอร์ตเองอยู่แล้ว บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำควรวางกลยุทธ์การลงทุนด้วยการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของผู้ลงทุน และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าสินทรัพย์ประเภทใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องไปตลอด ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม และการให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่เน้นหนักสำหรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะกลางถึงยาว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุนในระยะสั้นได้ เช่น ในกรณีที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น นักลงทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น หรือในทางกลับกัน ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง นักลงทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินสดเพิ่มขึ้นได้ ส่วนนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจลงทุน ทางบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการให้คำแนะนำการลงทุนโดยสามารถทำแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยง พร้อมทั้งแนะนำการจัดสรรและสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมแต่ละบุคคล โดยสามารถเข้าไปได้ที่ www.scbam.com เมนูมือใหม่หัดลงทุน, SCBAM Line Official และ SCBAM Fund Click
Home ธนาคาร|การเงิน|หลักทรัพย์ บลจ.ไทยพาณิชย์ ย้ำแผนปี 62 ให้ความสำคัญลูกค้าเป็นอับดับ 1 มุ่งต่อยอดเทคโนโลยี AI เพิ่มศักยภาพการลงทุน พร้อมลุยดิจิทัลแพลตฟอร์มบริการลูกค้าครบวงจร