บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่ายปันผล 2 กองทุนหุ้นสหรัฐS&P 500-บิลเลี่ยนแนร์
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศ พร้อมกัน 2 กองทุนในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 นี้ ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 31 พฤษภาคม 2562 และกำไรสะสม ในอัตรา 0.2298 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 12 รวมจ่ายปันผล 3.0304 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 18 ธ.ค. 2555) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1มิถุนายน 2561 – 31 พฤษภาคม 2562 และกำไรสะสมในอัตรา 0.4392 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ไปแล้วจำนวน 0.3322 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.1070 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 6 รวมจ่ายปันผล 1.1787 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 24 ก.ค. 2558)
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุน สามารถสร้างผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุน SPDR S&P 500 ETF Trust ที่บริหารจัดการโดย State Street Global Advisors ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบ passive โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P500 และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 17.82% (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย. 2562) ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN) มีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 18.48% (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย. 2562) โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี iBillionaire
“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากการผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนต่างๆ ทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ นั้นเริ่มกลับมาดีขึ้นภายหลังจากรายงานของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษ ได้ข้อสรุปว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นของการแอบร่วมมือกับรัสเซียในการแทรกแซงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ากระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีนั้นก็มีความน่าจะเป็นลดน้อยลง ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้ความต่อเนื่องของโมเมนตัมในเรื่องของข้อตกลงทางการค้า (trade deal) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดโลกมีการปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีนี้ตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือท่าทีของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในประเด็นของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยการสื่อสารเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นการเน้นย้ำถึงจุดยืนของเฟดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากการให้สัมภาษณ์ในลักษณะกลับลำหรือที่เรียกว่า mid-cycle pause นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยตลาดได้ปรับลดการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ทิ้งทั้งหมด และได้เริ่มมีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแทน โดยล่าสุดตลาดได้คาดว่ามีความเป็นไปได้ถึงประมาณ80% ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากนี้ไปนักลงทุนควรติดตามพัฒนาการของการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน (Trade War) อย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันกำหนดการพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการประชุมนอกรอบ G20 ในช่วงวันที่ 28 – 29 มิถุนายนนี้ นอกเหนือจากนี้การปรับตัวของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ฯ เริ่มที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าสู่ช่วงปลายวัฎจักรเศรษฐกิจ (Late Cycle) ของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น