บลจ.วรรณ ทุ่มเงินเกือบ 170ลบ. ซื้อหุ้น ECF เหตุเห็นอนาคตสดใสและกำไรเติบโตต่อเนื่อง
นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เปิดเผยว่า การที่บลจ.วรรณ เข้ามาลงทุนในหุ้น ECF เนื่องจากมีความมั่นใจในอนาคตของบริษัทฯ ซึ่ง ECF ได้มีการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ ECF ออก PP จำนวนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ให้กับกองทุน Macquarie สถาบันการเงินสัญชาติออสเตรเลีย และในรอบนี้ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขาย PP ให้กับ บลจ.วรรณ เพิ่มอีกในจำนวน 30 ล้านหุ้น
“ทั้งบลจ.วรรณและกองทุน Macquarie เข้ามาลงทุนในหุ้น ECF เพราะเล็งเห็นอนาคตของECFและทีมงาน ทีมผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ” นายอารักษ์กล่าว
สำหรับความคืบหน้า การเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 เมกะวัตต์ ณ เมืองมินบู รัฐมาเกวย ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ของบริษัทพลังงานเพื่อโลกสีเขียว จำกัด (“โครงการฯ” หรือ “GEP”) พื้นที่โครงการสำหรับโรงไฟฟ้าเฟสแรกได้รับการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้ว และยังไม่พบปัญหาใดๆระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าการก่อสร้างเฟสแรกจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์สำหรับเฟสที่ 1 ได้ภายในช่วงกลางปี 2561 จากนั้นจะเดินหน้าลุยก่อสร้างเฟส 2 ต่อทันที
ทั้งนี้ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบัน GEP Thailand เป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ใน GEP Myanmar Co,Ltd. ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานในรูปแบบ Build Operate and Transfer (BOT) ในการพัฒนาและดำเนินโครงการฯ และเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ สัญญา PPA) กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 30 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของระยะที่ 1 กำลังการผลิตไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น 4 เฟส ห่างกันทุก ๆ 1 ปี โดย 3 เฟสแรกมีขนาด 50 เมกะวัตต์ และ เฟส 4 มีขนาด 70 เมกะวัตต์
สำหรับการเข้าลงทุน บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (“ECF-Power”) ในฐานะบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 เป็นผู้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ GEP ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของโครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งมั่นใจว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริม และสร้างการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทต่อไป ในอนาคต ก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับสู่บริษัท และในท้ายที่สุดจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดี ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ และเผยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล PWGE ที่นราธิวาส จำนวน 7.5 เมกะวัตต์ ที่ COD แล้วรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นายอารักษ์ กล่าว