บริษัท AMR Asia บริจาคผลงานวิจัยและพัฒนา ‘ประตูกั้นชานชาลา รถไฟฟ้า’ ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

0
291
image_pdfimage_printPrint

บริษัทไทยเจ๋ง! AMR Asia ผู้นำด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (Railway Engineering) ของคนไทย บริจาคผลงานวิจัยและพัฒนา ‘ประตูกั้นชานชาลา รถไฟฟ้า’ ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เติมเต็มการศึกษาไทย
AMR Asia บริจาคผลงานวิจัยและพัฒนาประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Door : PSD) หรือประตูกั้นระหว่างจุดรอของผู้โดยสารและรางรถไฟฟ้า จำนวน 1 ชุด ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพให้กับนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมระบบราง (KURAIL) และใช้พัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถด้านประตูกั้นชานชาลาออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจด้านงานวิจัยและพัฒนาสินค้าที่คนไทยผลิตได้เอง อีกทั้งยังใช้วัสดุภายในประเทศไทยอีกด้วย
พิธีลงนามมอบประตูกั้นชานชาลา จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน 2561 ณ อาคาร CNC ชั้น 5 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมีตัวแทน บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้มอบ และ รศ.ดร. พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีทีมผู้บริหารของบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด และคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า “ด้วยศักยภาพของ AMR Asia เราสามารถที่จะบอกคนในประเทศว่า จริงๆ แล้วเรื่องระบบขนส่งทางรางไม่ใช่สิ่งที่คนไทยทำไม่ได้ ในปัจจุบัน AMR Asia สามารถพัฒนา ออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างขึ้นมาได้เอง อาทิ เช่น ระบบสั่งหยุดรถไฟฉุกเฉิน (Emergency Stop Plunger : EMP) ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งใช้งานจริงบนสถานีรถไฟฟ้า BTS แล้วกว่า 23 สถานี และระบบแสดงเส้นทางการเดินรถแบบปรับเปลี่ยนข้อความและภาพอัตโนมัติ (Digital Route Map System : DRMS) ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งใช้งานจริงบนรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที (BRT) เรียบร้อยแล้ว และยังได้นำผลิตภัณฑ์ของคนไทยเพียงรายเดียวนี้ไปจัดแสดงในงาน InnoTrans 2016 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ”
“ในองค์ความรู้ที่ AMR Asia มี และด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตร AMR Asia มีความยินดีที่จะสนับสนุนการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและผลิตภัณฑ์ด้านระบบรางในประเทศไทย และทาง AMR Asia มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนนึงในการพัฒนาประเทศ”

ทำความรู้จักประตูกั้นชานชาลา
ประตูกั้นชานชาลา หรือ Platform Screen Doors (PSD) เป็นอุปกรณ์ประตูอัตโนมัติที่ใช้สำหรับป้องกันอุบัติเหตุจากการที่ผู้โดยสาร หรือสิ่งของตกหล่นจากชานชาลาลงสู่ทางวิ่งรถไฟฟ้าและป้องกันการเข้าสู่เขตพื้นที่การเดินรถโดยพลการ โดยประตูกั้นชานชาลาจะทำงานสัมพันธ์กับระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ประตูกั้นชานชาลาสามารถติดตั้งได้ทั้งสถานีรถไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่เปิดให้บริการ หรือติดตั้งเพิ่มเติมในสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว
ประตูกั้นชานชาลาชุดนี้ เป็นผลงานที่ AMR Asia วิจัยและพัฒนาร่วมกับศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (RDiPT) ซึ่งผ่านการทดสอบคุณภาพโดยการเปิดปิดประตูกั้นชานชาลาจำนวนกว่า 1 ล้านครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทำความรู้จักกับบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (AMR Asia)
บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด เป็นบริษัทวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางที่ให้บริการที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษางานระบบรถไฟฟ้า (E&M) ประกอบด้วย ระบบสื่อสาร (Communication System), ระบบควบคุมและสั่งการระยะไกล (SCADA), ระบบไฟฟ้าหลัก (Power Supply), อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Depot), ระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling), ระบบเก็บค่าโดยสาร (AFC), ระบบประตูกั้นชานชาลา (PSD), ระบบบริหารอาคาร (Building Management System), และระบบตัวรถไฟฟ้า (Rolling Stock) โดยบริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทีมงานมืออาชีพในระดับสากล และประสบการณ์ด้านระบบรางมากว่า 12 ปี ให้กับหน่วยงานอาทิ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), และ ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Technology & Communication) ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย (Computer Network & Security) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ รวมถึงโซลูชั่นสำหรับ Smart City และ Internet of Things : IoTs ให้กับเมืองหรือองค์กรที่มีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0