1

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จํากัด ปลุกกระแสรักสุขภาพ จัดกิจกรรมพิเศษ Heart Failure Awareness

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จํากัด ปลุกกระแสรักสุขภาพ จัดกิจกรรมพิเศษ Heart Failure Awareness

ภญ.ดร. อิษยา สุขารมณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเข้าถึงยา ฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจสัมพันธ์ และฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่คนไทยน้อยคนจะรู้ตัวและรักษาได้ทันท่วงที อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ 26 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 46% ภายในปี 2573 และมีข้อมูลว่าคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี 1 ใน 5 คนมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีข้อมูลระบุความชุกสำหรับประชากรไทย แต่จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว พบว่าผู้ป่วยชาวไทยมีอายุเฉลี่ยที่ต่ำกว่าและมากกว่าผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกาตามลำดับ และจากข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียพบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นไปในทิศทางเดียวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ

ดังนั้นการให้ความรู้ต่อประชาชน เพื่อลดความเสี่ยง จึงมีความสำคัญอย่างมาก ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจซึ่งทำหน้าที่การสูบฉีดเลือดนั้นอ่อนแรงลงหรือมีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ภาวะหัวใจล้มเหลวมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยรวมทั้งยังทำให้เกิดภาระต่อผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วยอีกด้วย การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จีงเป็นสาเหตุการตายของประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยภายในเวลา 5 ปี หลังได้รับการวินิจฉัย ปัจจุบันการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอัตราการตายและภาวะแทรกซ้อน

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุให้เกิดการตายได้มากถึง 2-3 เท่าของโรคมะเร็งระยะรุนแรง เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ นับเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งทีทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากถึง 108 พันล้านเหรียญสหรัฐในทุกๆปี

ทางบริษัทฯ จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษโครงการ Every Beat Matters ภายใต้แคมเปญ Heart Failure Awareness เนื่องในวันหัวใจโลก 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เพื่อจุดประกายร่วมรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการรับรู้ข้อมูล การสังเกตสัญญานเตือน และการปฎิบัติตัวในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว จึงเป็นที่มาของโครงการ Every Beat Matters สื่อสร้างสรรค์ ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น Website, Facebook หรือ YouTube

นอกจากการเปิดตัว สื่อในโครงการ Every Beat Matters แล้ว ภายในงานยังได้มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ในเรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลว โดยได้รับเกียรติจาก
 รศ.นพ. ถาวร สุทธิไชยากุล นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
 ศ.นพ. รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์, ประธานชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย
 ผศ. ศริญญา ภูวนันท์ อายุรศาสตร์หัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 อาจารย์นายแพทย์ ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี
โดย รศ.นพ. ถาวร สุทธิไชยากุล นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวในปัจจุบันนั้น สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ทั้งนี้มาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การบริโภคไขมันในปริมาณมากเกินไป การไม่ออกกำลังกายส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดสูง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และมีโอกาสเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดนั้นอ่อนแรงลง หรือมีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่วนในเรื่องของการรักษานั้น ก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ส่วนสำคัญที่สุดนอกจากการเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์เป็นประจำ การรับประทานยาสม่ำเสมอแล้ว ผู้ป่วยและญาติคือผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้นเป็นอย่างมาก และลดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัวในระยะยาว จึงจำเป็นต้องเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวและอาการต่างๆ ซึ่งอาจจะช่วยผู้ป่วยจัดการกับอาการต่างๆได้ดีขึ้น และเพื่อลดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นผลลัพธ์ระยะสุดท้ายของโรคหัวใจเกือบทุกชนิด

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Every Beat Matters ได้ โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลที่ เว็บไซต์ของโครงการ www.everybeatmatters.in.th, เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com.in.th และ ยูทูปhttps://www.youtube.com/everybeatmatters

ข้อมูลเพิ่มเติม :
เว็บไซต์ของโครงการ www.everybeatmatters.in.th