บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำแปลงข้าวสาธิตภายใต้โครงการ”เพิ่มข้าว”
บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำแปลงข้าวสาธิต โดยใช้องค์ความรู้ร่วมกัน ระหว่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ภูมิปัญญาประสบการณ์ของเกษตรกร และเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยของ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี
คุณวัชระ ปิงสุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า โครงการเพิ่มข้าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ได้ ทั้งปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. ไทยเซ็นทรัลเคมี มหาวิทยาลัย และเกษตรกร โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการเพิ่มผลผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การเตรียมแปลงก่อนการเพาะปลูก การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีภาคการเกษตร รวมทั้งใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ในการดูแลรักษาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งโครงการเพิ่มข้าวครั้งนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นปีแรก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร สหกรณ์การเกษตรรักษ์ถิ่นเกิด จังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่น จังหวัดสกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี รวมไปถึง กรมปลูกฝัง กระทรวง กสิกรรมและป่าไม้ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดี กล่าวว่า โครงการเพิ่มข้าวเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่อยู่ภายใต้ โครงการดาวล้อมเดือน เป็นโครงสร้างที่สร้างจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรโดยยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาการเกษตรภายในชุมชนให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนา โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เปรียบเสมือนดาว และภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน ผศ ดร. ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรไทย เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหาร ในการทำแปลงสาธิตข้าวในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้เทคโนโลยีงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี คือ การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ โดยใช้หลักง่ายๆ คือ ใส่ปุ๋ยตามที่พืชและดินต้องการ รวมทั้งการเพิ่มอินทรียวัตถุในช่วงการพักดินในช่วงฤดูแล้ง เพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดียิ่งขึ้น