บทเรียนเรื่อง “เปรี้ยว” ที่พ่อแม่ต้องรู้ เพราะลูกใครก็เป็นได้

0
352
image_pdfimage_printPrint

ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและกระทบกระเทือนความรู้สึกของคนที่รับรู้เป็นอย่างมาก เหตุการณ์การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิตทั้งยังซ่อนเร้นอำพรางความผิด สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมได้เสมอ ไม่ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดกับใคร อาจจะเป็นคนที่อ่อนแอ คนไม่มีทางสู้ อาจเป็นการแก้แค้น การจัดการปัญหาโดยขาดสติ หรืออาจเป็นความเคยชินของการใช้ความรุนแรงที่พบเห็นได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
โดยถ้าหากลองมองย้อนกลับมาดูที่ตัวเราเองในฐานะผู้รับสื่อ ในช่วงระหว่างที่เสพข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับเปรี้ยว หรืออาชญากรรมที่ร้ายแรงเยอะๆ เราก็จะเห็นว่าชาว Netizen มีคอมเมนต์เต็มไปหมดว่า “เจอตัวแล้วตื้บให้ด้วยนะอย่าให้รอด” หรือ “ประหารให้ตายสถานเดียว” …
ในจังหวะที่พักการเสพข่าว แล้วมีโอกาสได้ดึงสติกลับมาคิดทบทวนอย่างละเอียดอีกครั้ง ก็จะพบความจริงว่าอินเนอร์ข้างในของพวกเรานั้นไม่ได้ต่างอะไรกับแก๊งของเปรี้ยวเลย ที่เจอปัญหาขวางหูขวางตา เราก็อยากใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาให้หายไป ยุกันให้ใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาหัวใจ เราคิด เราใช้อารมณ์ เรารู้สึกว่ามันสาสมแล้ว และเรามีสิทธิ์ที่จะคิดแบบนี้ … ดังนั้นมันเป็นความจริงที่ว่าถ้า Triggers ที่เหมาะสมต่างๆ มารวมตัวกันถึงจุดหนึ่ง คนเราก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงอย่างเช่นกรณีของเปรี้ยวก็เป็นได้
สิ่งที่จะช่วยให้เด็ก ๆ หรือแม้แต่ตัวเราเองไม่กลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา คือการตระหนักว่าวัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญมาก ลูกที่คุณพ่อคุณแม่รู้จัก จริงๆ เห็นพฤติกรรมได้จริงๆ และแก้ไขโดยที่ลูกยังฟังคุณพ่อคุณแม่อยู่จริงๆ จะอยู่ในวัยไม่เกินช่วง 12 – 14 ปี หรือเอาง่ายๆ ว่า ขึ้น ม.1 ก็เตรียมตัวเจอลูกคนใหม่ที่เราไม่รู้จักเขามาก่อนได้เลย เพราะตอนนี้ลูกจะกลายเป็นผลผลิตของเพื่อน ของ Net Idol ของใครก็ได้ที่ไม่ใช่พ่อแม่ของเขาแล้ว ซึ่งเด็กทุกคนเป็นแบบนี้ เพราะเป็นโครงสร้างพันธุกรรมที่เราสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ที่สมัยดึกดำบรรพ์เราเป็นนักล่า นักผจญภัย ถ้าโตแล้วไม่เริ่มห่าม ไม่เริ่มกล้าทำอะไร เมื่อแยกจากพ่อแม่ไปก็จะอยู่ไม่รอดในสิ่งแวดล้อมข่างนอกบ้าน ข้างนอกครอบครัว ดังนั้นพอถึงวัยนี้ เด็กๆ เขาจะผละจากอ้อมอกพ่อแม่ไปหาเพื่อนด้วยแรงกระตุ้นตามวัย ลูกเราไม่ได้ผิดปกติ แต่คนทั้งโลกใบนี้เป็นเช่นนี้
ดังนั้นคำแนะนำของพี่แนน คือ ต้องตั้ง Deadline ไว้ ว่าเราจะเตรียมลูกให้พร้อม ให้เหมือนกับว่าเขาจะไม่มีเราอยู่ด้วยอีกแล้วก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป้าหมายในการทำแบบนี้ คือการสร้างให้เด็กมีความแข็งแรงทางจิตใจเป็นอาวุธ สรุปวิธีให้เข้าใจง่ายๆ เลย คือ การฝึกให้เด็กมี ศีล สมาธิ และปัญญาอาจจะฟังดูเป็นธรรมะจ๋ามาก แต่ว่าจริงๆ แล้ว ศีล คือ การให้เด็กรู้กรอบ รู้ระเบียบ รู้วินัย มี Mindset ที่ถูกต้องเป็นแก่นในการดำเนินชีวิต สมาธิ หรือสติ คือ การให้เด็กรู้จักการยับยั้งช่างใจจนเป็นนิสัย ฝึกให้น้องรู้จักการรอคอยที่จะคิดให้ดีก่อนทำ และท้ายที่สุดคือ ให้ปัญญา หรือความรู้ที่ถูกต้องกับลูก ถ้า 3 องค์ประกอบนี้มั่นคง ไม่ว่าลูกจะไปเจอกับสภาวะที่ยากลำบากอย่างไร ก็จะยังคงมีความยับยั้งชั่งใจ คิดเป็น ไม่ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย โดยการปล่อยให้ลูกคิดและฝึกดำเนินชีวิตที่มีกรอบ ที่ไม่ขัดกับธรรมชาติ หรือธรรมะนี้ จะเป็นอาวุธติดตัวลูกไปตลอด เหมือนถ้าเราเลือกซื้อรถให้ลูกสักคัน เราก็จะลงทุนซื้อรถที่มีระบบขับเคลื่อนดี มีความปลอดภัยสูงให้กับลูกเพื่อช่วยลดความเสี่ยง อีกสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยน้องได้คือการเลือกสังคมที่ดีให้กับลูก แน่นอนว่าโรงเรียนดีๆ เพื่อนๆชวนกันเรียน แม้จะไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ แต่ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก เปรียบเสมือนเรามีทั้งระบบควบคุมที่ดี และยังมี Air bag ไว้ป้องกันอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่ตัวน้องๆ เอง น้องเป็นเหมือนคนขับรถ ให้รถดี ระบบความปลอดภัยยอดเยี่ยม แต่คนขับไม่รักและเห็นคุณค่าของชีวิตตัวเอง เลือกจะใช้ชีวิตอย่างประมาท สุดท้ายแล้วจุดจบก็จะไม่ต่างจากกรณีของเปรี้ยว มาถึงตรงนี้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า สื่อและสังคมออนไลน์กำลังสร้างให้เปรี้ยวกลายเป็น Net Idol ซึ่งพี่แนนอยากให้น้องๆ แยกแยะให้ถูก ว่าการเป็นบุคคลมีชื่อเสียงไม่ได้แปลว่าเป็น “Net Idol” เสมอไป คำว่า “มีชื่อเสียง” ภาษาอังกฤษคือคำว่า “famous” แปลว่า มีชื่อเสียงในทางที่ดี แต่อีกคำคือ “Infamous” แปลว่า “มีชื่อเสีย” หรือ “ขึ้นชื่อในทางไม่ดี” ซึ่งน้องๆ อยากจะเดินตามทางไหน ลองดูให้ดี เพราะความสุข ความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่การมีชื่อเสียง มีคนรู้จักเยอะแยะเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ดูที่ระยะยาวว่าสิ่งที่เรียกว่าชื่อเสียงนั้น ทำให้น้องอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขจริงหรือเปล่า
น้องจะเป็นอะไร มีชีวิตแบบไหน ต้องพึงระลึกเสมอว่าน้องคือผลผลิตของการกระทำของตัวเอง Idol (n.) หรือ Icon ใช้เรียกคนที่โดดเด่น น่าชื่นชม ในทางที่ดี มาจาก(v.) Idolize แปลว่า บูชาเหมือนเทพเจ้า ซึ่งแน่นอนว่าใครเป็น Idol ตัวจริง หรือตัวปลอม ดูผลลัพธ์ จากความสุขในการชีวิตจริง ไม่ใช่ชีวิตที่สร้างตัวตนขึ้นในโลก Social นะคะ