“น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” คาดว่าทุกคนคงจะคุ้นหูได้ยินได้ฟังกับวลีท่อนนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะรุ่น 30 อัพขึ้นไป เพราะเป็นคำที่มาจากเพลงอมตะที่ประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน และขับร้องโดยคุณศรคีรี ศรีประจวบ โด่งดังมากในยุค 40 – 50 ที่ผ่านมา จนทำให้คนยุคนั้นและยุคต่อๆ มาครั้นประสบพบปัญหาทั้งน้ำท่วมและฝนแล้งหลายรอบ ต้องคิดหนักและอดคิดตามไปไม่ได้ว่าจริงๆ แล้ว “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้งจริงหรือ?” จากข้อมูลเชิงสถิติปริมาณน้ำในช่วงหน้าฝน จะมีน้ำในเขื่อนค่อนข้างมาก ทำให้ความสามารถในการกักเก็บสำรองกับปริมาณน้ำที่จะเกิดขึ้นจากพายุต่างๆ ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน จึงจำเป็นจะต้องปล่อยน้ำระบายออกมา ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้กับปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความตระหนกตกใจให้แก่พี่น้องที่อยู่ใต้เขื่อนเป็นอย่างยิ่ง ไล่ตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา มาจนถึงกรุงเทพมหานคร
สำหรับเกษตรกรเพื่อลดการชะล้างผิวดิน ควรต้องใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก อินทรียวัตถุให้ดินมีความนุ่มชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้น้ำจากผิวดินซึมซาบลงไปสู่ดินชั้นล่างให้มากที่สุด และที่สำคัญอย่าใช้แต่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากก็จะเกิดน้ำหลาก ดินที่แน่นแข็งเป็นดาน หน้าดินตื้นจะถูกกระแสน้ำหลากพัดพาอินทรียวัตถุความอุดมสมบูรณ์ของดินไปได้ง่ายๆ และเมื่อน้ำท่วมผ่านไปแล้วพืชไร่ไม้ผลต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมในระยะหนึ่งจะช๊อต เพราะรากขาดออกซิเจน พืชอ่อนแอ ทรุดโทรม ต้นเหลือง และหลังน้ำท่วมอย่าเพิ่งรีบเข้าไปดูแลบริหารจัดการ เพราะจะไปเหยียบย่ำรากของพืชที่กำลังอ่อนแอให้บอบช้ำ และอาจจะเกิดโรคซ้ำเติมได้ง่าย ควรปล่อยให้ผ่านไปสักระยะหนึ่งค่อยให้น้ำให้ปุ๋ยบำรุงอีกครั้ง เรื่องนี้ควรรู้เพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามเราควรเตรียมพร้อมให้มากๆ พยายามบริหารจัดการพื้นที่ให้น้ำหลาก หรือไหลผ่านไปได้โดยง่าย และหาวิธีในการกักเก็บน้ำส่วนเกินนี้ไว้ใช้ยามหน้าแล้งโดยการหาจุดที่ต่ำสุดของพื้นที่ที่น้ำไหลรวม เพื่อขุดทำสระน้ำประจำไร่นาของตนเองสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งหลังจากที่สัมผัสกันแล้วทั้ง “น้ำท่วม” และ “ฝนแล้ง” ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแบบไหนดีกว่ากัน สำหรับยุคข้าวยาก หมากแพง ภัยแล้งซ้ำซาก น้ำท่วมจำเจแบบนี้ แต่ลึกๆ เชื่อว่าพี่น้องเกษตรกรน่าจะชอบน้ำท่วมมากกว่าฝนแล้ง อย่างน้อยยังมีน้ำให้เพาะปลูกบนที่ดอน มีกุ้ง หอย ปู ปลา ให้ทำมาหาเลี้ยงชีพประทังพอไปได้
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889