บทความพิเศษ เรื่อง : ทิศทางและอนาคตของเกษตรกรไทย
ในห้วงช่วงนี้ถ้าจะถามว่าจะทำอะไรดี จะปลูกอะไรดี จะขายอะไรดี… ผู้ที่ถูกถามคงจะอึดอัดลำบากใจมิใช่น้อย เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายด้านไม่ค่อยจะดี และอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนในหลากหลายมิติ เช่นการปรับยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวเป็น 10 ปี 20 ปี ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าการที่เราวางแผนยาวนานเกินไปนั้น จะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่กับโลก “ดิจิตอล” ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น แต่ก่อนเป็นวีดิโอเทป แล้วเปลี่ยนเป็น วีซีดี ดีวีดี มาตอนนี้กลายเป็น ดาวน์โหลด หรือดูจากยูทูปแทน และปัจจุบันมีเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) มาแทนที่ทำให้นักร้องและบริษัทที่ขายเทปในอดีตต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน และวิธีขายกันแทบไม่ทัน ถ้ารูปแบบการตั้งกฎระเบียบต่างๆ ไม่ยืดหยุ่น ไปยึดหรือล็อคมากๆ เข้า ในระยะยาววิถีชีวิตของลูกหลานในอนาคตจะสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลในยุคนี้วางไว้หรือไม่ หรืออาจจะกลายเป็นเรื่องล้าหลังกับโลกในอนาคต ทำให้การพัฒนาประเทศเจออุปสรรคจากกฎที่ตั้งไว้ในปัจจุบันก็เป็นได้ และเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่จะวางแผนอนาคตของชาติ
หลายท่านคงจะทราบกันดีว่าประเทศชาติของเรากำลังมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาครัฐพยายามจะทำให้ประชากรมีรายได้ 12,000-15,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีให้ได้ ปัจจุบันเรามีรายได้ของประชากรอยู่ที่ประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยที่เพิ่งจะแพ้มาเลเซียมาได้ไม่นานนี้เอง และไม่แน่ใจว่าต่อไปจะตามหลังเวียดนาม เขมร พม่าด้วยหรือเปล่า ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามวางระบบและเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเสียส่วนใหญ่ เพื่อให้ประเทศได้ก้าวไปสู่จุดนั้นให้ได้ภายในระยะเวลา 20 ปี และไม่แน่ใจว่าการส่งเสริมเกษตรกรรมภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นให้เกษตรกรเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรแปลงใหญ่นั้นมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด และเกษตรกรส่วนใหญ่รู้ชะตากรรมหรือไม่ ว่ารัฐบาลนั้นอาจจะกำลังพยายามลดสัดส่วนจำนวนของเกษตรกรให้น้อยลง เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วหรือพัฒนาแล้ว อย่างยุโรปอเมริกาและญี่ปุ่น ที่มีเกษตรกรอยู่เพียงส่วนน้อยแต่เป็นรายใหญ่ ประชาชนที่เหลือก็จะเป็นแรงงานเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งทำให้ชาวยุโรป อเมริกา กลัวการตกงานเป็นอย่างมาก เพราะอาชีพรองรับด้านการเกษตรไม่มีเหมือนบ้านเรา
ประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรประมาณ 30% หรือเกือบ 20 ล้านคน สมมุติถ้าสัดส่วนเกษตรกรในอนาคตลดลงเหลือแค่ 5 % ที่มีความสามารถหรือมีศักยภาพในการทำเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ เกษตรกรส่วนที่เหลือจะไปอยู่ตรงไหน ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่รัฐพยายามผลักดัน จะให้มีตำแหน่งงานรองรับเพียงพอกับจำนวนคนจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานของเกษตรกรในปัจจุบันหรือไม่ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดให้ดี ขนาดเรามองแต่ในด้านบวกว่าทุกโครงการจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามองในแง่ลบว่าหากว่าโครงการไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมา จะเป็นอย่างไร
ภาคการเกษตรของไทยทั้งประเทศ มีสัดส่วนมูลค่าเพียงร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่า และรัฐอาจจะมองว่าสามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าภาคการเกษตร จึงทำให้ทิศทางของประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่อุตสาหกรรมผสมผสานไปกับวิถีเกษตรกรรม และไม่แน่ชัดว่าจะมีสัดส่วนที่แน่ชัดเท่าไร ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของ “เกษตรกรของไทย” ในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน
“ชะตากรรมของเกษตรกรไทย” หากจะดำรงอยู่รอดได้ เชื่อว่าน่าจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถของตัวเกษตรกร รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไทย ให้ปลอดภัยไร้สารพิษ เพื่ออำนาจการต่อรองกับนายทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ในการลดต้นทุน เน้นการสร้างปัจจัยการผลิตด้วยลำแข้งของตนเอง เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ทดแทนการใช้สารเคมีและพิษ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จากเศษซากอินทรีย์วัตถุที่ได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต การผลิตจุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุของตนเอง อย่างจุลินทรีย์จากมูลสัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กระจง จิงโจ้ และยีราฟ) ทดแทนการนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศ การให้ความสำคัญกับจุลินทรีย์ท้องถิ่นสายพันธุ์ไทย โดยการหมักขยายกับน้ำมะพร้าวอ่อน นมยูเอชที ไข่ไก่ แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ในการป้องกันปราบปราบโรคแมลงศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ มองในแง่ปริมาณของสารวัตถุอันตรายทั้งหมดก็จะมีมากถึง 160,000,000 กว่ากิโลกรัม (หนึ่งร้อยหกสิบล้านกิโลกรัม หรือ หนึ่งแสนหกหมื่นตันโดยประมาณ) ลองคิดดูว่าปริมาณสารต่างๆ เหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปฉีดพ่น ราด รด พื้นดินแหล่งเพาะปลูกทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นป่าต้นน้ำ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ ตาก ฯลฯ และสารพิษที่ตกค้างเหล่านี้เมื่อฝนตกก็ถูกชะล้างไหลลงสู่เขื่อน ห้วย หนอง คลอง บึง ทำให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ อย่าง สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ล้มหายตายจาก บางชนิดอาจจะกลายพันธ์ หรือสูญพันธุ์ไป
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของภาคการเกษตรไทยนั้น ถ้ามุ่งไปสู่การทำเกษตรที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยไร้สารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการแปรรูปให้หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวเกษตรกร และช่วยให้ประเทศชาติเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยของโลก ผู้บริโภคทั่วโลกก็จะหันมานำเข้าอาหารที่ปลอดภัยจากภาคเกษตรของไทย ก็จะช่วยประเทศชาติมีรายได้และเติบโตเจริญรุ่งเรืองตามที่บรรพบุรุษได้วางไว้เป็นแบบอย่าง เพื่อสืบสานให้ประเทศเกษตรกรรมของไทยรุ่งเรืองในแบบบูรณาการตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02 986 1680 – 2
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)