บทความพิเศษ เรื่อง : ก้าวผ่านตุลาอาลัย ด้วยใจน้อมรำลึก

0
560
image_pdfimage_printPrint

…แล้วก็ “มาถึง” เดือนที่ประชาชนคนไทยทุกคนไม่อยากจะ “ให้ถึง” นั่นก็คือ “ตุลาอาลัย” เดือนแห่งความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศอันหาที่เปรียบมิได้ และเป็นเดือนครบรอบ ๑ ปีแห่งการสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยจะมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ นี้ ซึ่งก็อดใจหายไม่ได้เพราะไม่มีใครอยากจะให้ถึงวันนั้น และเชื่ออย่างยิ่งว่าคนไทยทุกคนคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน
“ผล” แห่งประการทั้งปวง ล้วนมาจาก “เหตุ” ความดีที่พระองค์ท่านทรงมีความเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา นับแต่พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” จึงทำให้พระองค์ท่านเป็นที่รักใคร่ของปวงประชาชนนับแต่นั้น พระองค์ท่านยังได้ทรงสร้างคุณูปการเยอะแยะมากมายแก่ประเทศชาติและพสกนิกร จนมิอาจจะเขียนกล่าวในที่นี้ได้หมด โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “แกล้งดิน” โดยการแปรสภาพดินเปรี้ยวจัดให้สามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช การบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ทั้ง เขื่อน ฝาย ฯลฯ อย่างเช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการแก้มลิงต่างๆ ที่ช่วยทำให้กรุงเทพฯ นครนายก พ้นจากภัยน้ำท่วมมาหลายครั้งหลายครา ก็ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน รวมถึงโครงการฝนหลวงที่แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ โครงการชั่งหัวมันที่จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นต้นแบบให้พี่น้องในพื้นที่และใกล้เคียงสามารถใช้วิชาชีพเกษตรที่หลากหลาย เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตโดยเน้นพึ่งพิงอิงอาศัยตนเอง ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคนจะก้าวผ่านความโศกเศร้าในครั้งนี้ และเปรียบดังพระองค์ท่านยังอยู่กับเราตลอดไป ก็น่าจะมีวิธีอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นก็คือ การทำให้พระองค์ท่านภูมิใจในตัวเราทุกคน โดยการน้อมนำทำตามที่พระองค์ท่านทรงสอนสั่งและวางแบบแผนเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง ที่พวกเราสามารถน้อมนำไปใช้กันได้จริงทุกคน ไม่ว่าจะ “รวย” หรือ “จน” ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเริ่มต้นจากเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง คือการทำให้ตนเอง “พออยู่พอกิน” สามารถช่วยเหลือแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันได้ก่อน เริ่มจากการแบ่งพื้นที่เพียง 1 ไร่ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30 : 30 : 30 : 10 เพื่อทำสระน้ำ ปลูกข้าว ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และที่อยู่อาศัย ทำแบบนี้ไปจนกว่าจะเข้าใจ แล้วจึงค่อยๆ เริ่มไปสู่เกษตรทฤษฎีขั้นที่ 2 คือการทำให้ตนเองก้าวไปสู่การ “พอมีอันจะกิน” โดยการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรมีพลัง มีอำนาจการต่อรอง จนไปสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือต้องรู้จักติดต่อประสานงานกับแหล่งเงินทุน ธนาคาร ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้า คุณภาพชีวิต เพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และดียิ่งๆ ขึ้นไป เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่า “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” พระองค์ท่านจะมีความสุขและคอยดูแลปกป้องคุ้มครองพวกเราให้มีความสุขตลอดไป
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 02 986 1680 – 2

สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)