บทความพิเศษเรื่อง : แค่ผื่นหน้าแดง อาจเป็นสัญญาณโรคพุ่มพวง

0
469
image_pdfimage_printPrint

web1

บทความพิเศษเรื่อง : แค่ผื่นหน้าแดง อาจเป็นสัญญาณโรคพุ่มพวง
โดยนพ.ธาดา เปี่ยมพงศ์สานต์ นายกสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ
แพทย์กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง และภูมิแพ้ผิวหนังมากว่า 40 ปี
อาการแดงที่หน้าดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจจะไม่เล็กอย่างที่เห็น เพราะแค่อาการผื่นแดงที่หน้า หรือแก้มทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้หลายโรค ดังนั้นต้องสังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติที่ร่างกายพยายามสื่อสารกับเราหรือเปล่า เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นโรคกลุ่มเอสแอลอี(SLE-Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่คนไทยเรียกว่าโรคพุ่มพวง ซึ่งโรคนี้ได้สร้างความตื่นตะลึงด้วยการคร่าชีวิตราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” มาแล้ว

ปัจจุบันมีแพทย์ผิวหนังทั่วโลกเพียงไม่กี่ท่านที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญและมีห้องชันสูตรชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกัน หรือวิทยาอิมมูน (Immunology) จึงจะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ตามกฎข้อบ่งชี้ของแพทย์สมาคมไขข้ออเมริกัน ที่ต้องพบอาการ 4 ข้อ จากทั้งหมด 11 ข้อดังนี้ 1.มีผื่นที่แก้ม 2.มีผื่น Discoid rash 3.มีผื่นอาการแพ้แสง 4.มีแผลในปาก 5.มีข้ออักเสบ ปวด บวม แดง และร้อนมากกว่า 2 ข้อ 6.เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 7.ตรวจปัสสาวะพบโปรตีนหรือพบ cellular casts 8.มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก อาการทางจิต 9.มีความผิดปกติทางโรคเลือดได้แก่โลหิตจางจากHemolytic anemia หรือเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 4000/L หรือเซลล์ lymphopenia น้อยกว่า 1500/L หรือเกล็ดเลือดขาวต่ำกว่า thrombocytopenia 100,000/L 10.ตรวจเลือดระบบภูมิพบ Anti-dsDNA, anti-Sm,และหรือ anti-phospholipid 11. ตรวจพบ Antinuclear antibodies ซึ่งหากรอจนมีอาการครบทั้ง 11 ข้อ ผู้ป่วยก็คงจะแย่เพราะอาการโรคลงตับ ไต สมอง ยากต่อการรักษา และอาจเสียชีวิตในที่สุด

จากประสบการณ์ในการรักษามากว่า 35 ปี ในผู้ป่วยกลุ่มเอสแอลอี กว่า 500 ราย (โรคนี้ในเมืองไทย คนไทยจะเป็นมากกว่าฝรั่งถึง 10-20 เท่า) โดยมีข้อสรุปแนวทางวินิจฉัยอาการโรคได้ดังนี้

1.กลุ่มเฉพาะเป็นที่ผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นกลมสีแดง มีสะเก็ดขอบเขตชัด นูนหนาเล็กน้อย บางรายนูนหนาสูง เมื่อหายแล้วเป็นแผลเป็น มักขึ้นตามใบหน้า ในใบหู ตามตัว หรือเป็นทั้งตัว บางคนเป็นก้อนนูนหนา เมื่อหายผิวหนังจะบุ๋มลึก บางรายมีแผลขนาดใหญ่ ที่ก้นหรือตามเท้า ผื่นอาจขึ้นที่ริมฝีปากล่าง และขอบตาล่าง ถ้ามีขึ้นที่ศีรษะ จะก่อให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อม กลุ่มนี้เรียกว่า ดีแอลอี (DLE-Discoid Lupus Erythematosus ) ประมาณ 5% ของกลุ่มนี้ ผู้ป่วยจะกลายเป็นเอสแอลอี ในระยะเวลา 5-10 ปีต่อมา จากการที่ผิวโดนแดดทำให้โรคกำเริบ

2.กลุ่มเอสแอลอี ที่มีอาการครบ 4 ข้อจาก 11 ข้อ ลักษณะอาการจะมีผื่นแดงบนใบหน้า ตัว แขน ขา หรือทั้งตัว อาจมีสะเก็ดบางหรือหนา หรือมีวงหลายวง ข้อบวม มือเขียว เมื่อถูกความเย็น มักมีไข้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผมร่วงมาก เลือดออกทางใต้ผิว ปลายนิ้วมีรอยบุ๋มเล็กๆ มีแผล 2-3 จุดที่เพดานปาก ตาอาจบอด อาจมีอาการทางสมอง พูดเพ้อเจ้อ มีอาการชัก กลุ่มนี้มีอาการชัดเจน ถ้าอาการมากอาจตาบวม ตัวบวม ขาบวม เมื่อกดแล้วบุ๋ม แสดงว่าไตพิการมาก

3.ไม่เข้าข่ายทั้งสองกลุ่ม มีแต่ผื่นแดงๆ บนใบหน้า ไม่ใช่ลักษณะของโรค DLE เพียงแต่ตรวจพยาธิอิมมูนเรืองแสง ก็ใช่กลุ่มเอสแอลอี แน่ พบประมาณ 25%ของผู้ป่วย กลุ่มนี้จะกลายเป็นเอสแอลอี ในเวลาไม่นาน ซึ่งเรียกว่าเป็นสภาวะกลุ่มโรคก่อนเอสแอลอี หรือ Pre SLE คือมีอาการไม่ครบ 4 อย่าง กลุ่มนี้ไม่อยู่ในตำราโรคผิวหนังหรือ อายุรกรรมเล่มใด

การพยากรณ์โรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง
ผู้ที่มาหาแพทย์ผิวหนัง มักมีผื่นที่ผิวหนัง ดังนั้นอาการจึงไม่รุนแรง เพราะสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคสามารถมีชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไป การรักษาอาจนานถึง 10-20 ปี โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่นั้นบางรายอาจจะเป็น เช่น ผู้ป่วยที่แม่เป็นโรคนี้ 2-3 ครอบครัว พอแต่งงานมีลูกไปลูกก็เป็นโรคนี้ตอนโต และยังพบฝาแฝดที่เป็นโรคนี้ด้วยกัน ซึ่งมียีน (Gene) บางชนิดที่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ง่าย
คนที่เป็นโรคเอสแอลอี ทุกคนเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันสมควรหรือไม่ คำตอบคือไม่จริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการรุนแรงของโรค โดยจะแบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ
1. ความรุนแรงน้อย เช่น อยู่ในกลุ่ม สภาวะก่อนโรค เอสแอลอี (Pre-SLE)
2. ความรุนแรงปานกลาง คืออยู่ระหว่างกลาง หรือโรคยังไม่ลงที่ไต
3. ความรุนแรงมาก มีอาการดังนี้ เช่น ไตพิการ ตัวบวม ขาบวม มีอาการที่ผิว เช่น แผลที่เพดานปาก เส้นเลือดอุดตัน ปลายนิ้วเน่าแห้ง เป็นแผลเนื้อตาย ที่ปลายเท้า ตรงกลางสีดำล้อมรอบด้วยสีเหลือง และขอบนอกสุดมีสีแดง กลุ่มนี้อาจเสียชีวิตได้โดยไม่คาดคิด
คราวนี้คงทราบแล้วว่าแค่ผื่นหน้าแดง…ร้ายแรงขนาดไหน บางทีอาจไม่ใช่แค่ผื่นธรรมดาเท่านั้น ต้องคอยฟังสัญญาณเตือนจากร่างกายให้ดี รวมถึงหันมาใส่ใจสุขภาพผิว แต่หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัยเพื่อรักษาอย่างถูกต้อง และอย่าใจร้อนรีบเปลี่ยนแพทย์ก่อนเวลาอันควร ไม่อย่างนั้นอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง และลุกลามใหญ่โตถึงชีวิต สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สอบถามได้โดยตรงที่โทรศัพท์ 02-4223993, 095-5415186

สอบถามข้อมูลข่าวสารและบทความได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889