นีโอสุกี้ จัดหนักตลาดเชิงรุก ดึงแบรนด์ยุโรป-มะกันเสริมทัพ ทุ่ม 150 ล. สู้ศึก

0
816
image_pdfimage_printPrint

นายณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดสุกี้ ในเมืองไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ภาพรวมการเติบโตของตลาดรวมอยู่ที่ 10 % ต่อปี นีโอสุกี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสุกี้ที่เป็น alacarte เป็นอันดับสอง โดยแผนธุรกิจจะยังคงเดินหน้าลงทุนใหม่เรื่อยๆ ซึ่งในปลายปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 1 สาขา ใน จ.เชียงใหม่ รวมบริษัทจะมีสาขาทั้งสิ้นภายในปี 21 สาขา นอกจากนี้ยังขายแฟรนส์ไชส์ให้กับอินโดนีเซีย และเวียดนาม อีก 2 สาขา โดยเฉพาะตลาดเวียดนามยอดขายดีมาก เพราะตั้งอยู่ใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้บริษัท เมื่อปีที่แล้วยังได้เสริมธุรกิจไปอย่างไป 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์กังฟู และซุนวู ล่าสุดได้เปิดแผนการตลาด 5 ปี คือลำดับแรกจะเข้านำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไป ขณะเดียวกันได้เตรียมลงทุนทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ล่าสุดได้ลงทุนตั้งโรงงานในจ.นนทบุรี มูลค่า 50 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากที่โรงงานพระราม 3 มีกำลังการผลิตจำกัด จึงไม่เพียงพอต่อธุรกิจการขยายตัวของธุรกิจ ส่วนแผนดังกล่าว คาดว่าจะนำแบรนด์ใหม่มาเสริมอีกประมาณ 2 แบรนด์ รวมเป็น 5 แบรนด์ โดยเน้นที่เป็นแบรนด์ที่มาจากยุโรปและอเมริกา เน้นอาหารที่รับประทานง่าย เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่วนการลงทุนใหม่ ในประเทศจะเน้นหนักไปที่โซนบางซื่อ บางนา ลาดพร้าว ส่วนในต่างจังหวัดคาดว่าจะเป็น ขอนแก่น และ นครราชสีมา เน้นเข้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ทำการตลาดมาอย่างดีแล้ว

สำหรับจุดแข็ง นีโอสุกี้ ยังคงเน้นด้านคุณภาพเพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง จะไม่เน้นการแข่งขันเรื่องของราคา ส่วนการวางตำแหน่งสินค้าของนีโอสุกี้ คือ สุกี้ โฮมเมด คัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาเพื่อผู้บริโภค โดยมองว่าเทรนด์ในอนาคต กระแสบุฟเฟ่ต์ จะลดลง แต่แบรนด์ที่ทำบุพเฟ่ต์จะอยู่ได้ต้องเป็นแบรนด์ที่เน้นจะตลาดบน ส่วนตลาดกลาง-ล่าง แข่งขันลำบาก และอาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กปิดตัวลง

อย่างไรก็ตามการแข่งขันในตลาดจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะปรับตัวด้วยการรักษาคุณภาพให้ดี รักษาฐานลูกค้าเดิมให้ได้ โดยมั่นใจว่าธุรกิจจะเติบโต 12-15% หรือมีรายได้ 370-400 ล้านบาท โดยปัจจัยบวกที่ทำให้เติบโต คือ การขยายสาขา และเทรนด์คนรักสุขภาพยังคงแรงต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่กระจายตัว เช่นการส่งออกที่เติบโตเฉพาะกลุ่ม อุตสาหกรรม ทำให้เงินไม่กระจายมาถึงระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องรอท่าทีทางการเมือง หากมีการเลือกตั้งนักลงทุนจะเข้ามาไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น