นิด้าจับมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสร้างมาตรฐานอาชีพการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

0
559
image_pdfimage_printPrint

การสร้างมาตรฐานวิชาชีพสาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวที่แสวงหาประสบการณ์แบบเข้าถึงและเจาะลึกความเป็นท้องถิ่นผนวกกับนโยบายของไทยที่ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่นำเสนอเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเองส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทีไหลเข้าสู่พื้นที่ชนบทเพิ่มมากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเหล่านั้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและรักษามาตรฐานการบริการในด้านต่างๆ ให้มีมาตรฐานเพื่อรักษาระดับการให้บริการที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรรักษ์ สุเฌอ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานวิจัยว่า งานวิจัยดังกล่าวมีมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มสาขาอาชีพจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่มีความเป็นสากลและเหมาะสมกับประเทศไทย อีกทั้งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพเป็นที่รับรู้และยอมรับในทุกภาคส่วน
สาขาอาชีพที่จะได้รับการพัฒนามาตรฐานอาชีพ ได้แก่ นักบริหารจัดการที่พักท้องถิ่น นักเล่าเรื่อง ผู้ประกอบการร้านอาหารท้องถิ่น นักออกแบบประสบการณ์การท่องเที่ยวในท้องถิ่น นักออกแบบของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และนักประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมิเดีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วจะทำให้มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในหกสาขาอาชีพดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่จะนำไปพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของตนเอง ผู้ประกอบการใช้ประกอบการจ้างงานได้ตรงกับความต้องการ สถานศึกษานำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และยกระดับอาชีพให้กับบุคลากรทั้งในตลาดแรงงานและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยระยะเวลาดำเนินการโครงการ 1 ปีและสิ้นสุดในปี 2563