นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสร่วมพิธีเปิดโรงงานประกอบขั้นสุดท้ายเครื่องบินแอร์บัส เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบีอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ตั้งชื่อโรงงานตาม มร.โรเจอร์ เบเทจ บิดาผู้บุกเบิกแอร์บัส

0
264
image_pdfimage_printPrint

วันนี้ มร.ฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและมร.ฟาบริซ เบรจิเย่ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์บัส ประกาศเปิดโรงงานประกอบขั้นสุดท้าย เครื่องบิน เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ขนาด 74,000 ตารางเมตร ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ โดยโรงงานมีแผนจ้างพนักงานกว่า 1,500 อัตราและคาดการณ์ว่าจะมีความสามารถในการผลิตเครื่องบินได้สูงสุดถึง 10 ลำต่อเดือนเมื่อเริ่มดำเนินงานแบบเต็มขั้นใน ปีพ.ศ.2561

พิธีเปิดงานซึ่งจัดขึ้นภายในโรงงานประกอบขั้นสุดท้ายนี้ มีสักขีพยานร่วมเป็นเกียรติมากมายทั้ง นักการเมือง ตัวแทนรัฐบาลนานาประเทศ ลูกค้าคนสำคัญของแอร์บัส เหล่าซัพพลายเออร์ ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานกว่า 1,000 คน

 

มร.ฟาบริซ เบรจิเย่ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์บัส กล่าว “นวัตกรรมหยั่งลึกลงอยู๋ในดีเอ็มเอของแอร์บัสและเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เครื่องบินล้ำสมัยใหม่ล่าสุดคือตัวอย่างที่ชัดเจน วันนี้เราขอแสดงความยกย่อง มร.โรเจอร์ เบเทจ ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีด้านการบินด้วยการตั้งชื่อโรงงานประกอบขั้นสุดท้าย เครื่องบิน เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบีตามชื่อของเขา ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่แห่งวงการอุตสาหกรรมการบิน”

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดโรงงานประกอบขั้นสุดท้ายเครื่องบินเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี” มร.โรเจอร์ เบเทจ กล่าวพร้อมเสริม “ความสำเร็จแอร์บัสคือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมด้านความร่วมมือแห่งเหล่าพันธมิตรชาติยุโรป โดยความร่วมมือนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งของแอร์บัสในการก้าวขึ้นครองตำแหน่งบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก”

 

แขกผู้มาร่วมงานจะมีโอกาสได้สัมผัสกระบวนการผลิตเครื่องบินขั้นสุดท้ายของเครื่องบิน เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี 2 ลำแรก ทั้งแบบตั้งแสดงและบินได้จริงเครื่องแรก (เอ็มเอสเอ็น1) อย่างใกล้ชิด

 

เครื่องบินตั้งแสดงซึ่งมีแผนจะนำไปใช้สำหรับการทดสอบภาคพื้นดินนั้นใกล้เสร็จสิ้นกระบวนการประกอบแล้ว เหลือเพียงการประกอบโครงสร้างลำตัว ปีกและแพนหางดิ่ง เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวเครื่องบินจะถูกลำเลียงไปยังโรงทดสอบ ณ โรงงานฌอง ลัค ลาการ์แดร์ เมืองตูลูสเพื่อเตรียมการทดสอบความแข็งแรงทางด้านโครงสร้าง ซึ่งจะเริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ.2556 ขณะที่เครื่องบิน เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบีแบบบินได้จริงเครื่องแรก (เอ็มเอสเอ็น1) ได้ดำเนินการประกอบโครงสร้างส่วนลำตัวเรียบร้อยแล้วและจะทำการประกอบปีก แพนหางดิ่งและแพนหางระดับเข้ากับโครงสร้างส่วนลำตัว ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

 

มร.เบเทจ เป็นหนึ่งใน 4 บิดาผู้ก่อตั้งแอร์บัสและมีบทบาทด้านการพัฒนาระบบควบคุมการบิน ฟลาย-บาย-ไวร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญของแอร์บัสและได้กลายมาเป็นมาตรฐานด้านเทคโนโลยีของวงการอุตสาหกรรมการบิน นอกจากนี้ มร.เบเทจ ยังเคยรับผิดชอบโครงการ เอ300 เครื่องบินลำตัวกว้าง 2 เครื่องยนต์ลำแรกของโลกที่ได้ดำเนินการบินเที่ยวแรกเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาและด้วยโอกาสเฉลิมฉลองการผลิตเอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เครื่องบินลำตัวกว้างเครื่องยนต์คู่รุ่นใหม่ แอร์บัสจึงทำการเปิดตัวโรงงานโรงงานประกอบขั้นสุดท้ายแห่งใหม่

 

โรงงานประกอบขั้นสุดท้าย เครื่องบิน เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี มีพื้นที่เกือบ 300 คอร์ทเทนนิส พื้นที่ 22,000 ตารางเมตร ของหลังคาโรงงานถูกติดตั้งด้วยแผงเซลล์สุริยะเพื่อช่วยในการผลิตพลังงานตอบสนองความต้องการด้านการใช้พลังงาน

 

เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เป็นเครื่องบินขนาดกลางลำตัวกว้างรุ่นใหม่ของแอร์บัส ที่ได้นำเอานวัตกรรมล่าสุดด้านอากาศพลศาสตร์ การออกแบบและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงลงถึงร้อยละ 25 รวมไปถึงลดต้นทุนค่าดำเนินการเมื่อเทียบกับเครื่องบินประเภทเดียวกัน โครงสร้าง เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบีกว่าร้อยละ 70 ทำมาจากวัสดุคอมโพสิต (ร้อยละ 53) ไทเทเนียมและอลูมิเนียมอัลลอยด์ อีกหนึ่งเอกลักษณ์เด่นของ เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี คือ ส่วนลำตัวของเครื่องบิน (fuselage) นั้นผลิตมาจากพลาสติกผสมเส้นใยคาร์บอนเสริมแรง(CFRP) ซึ่งช่วยลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงพร้อมบำรุงรักษาง่าย เป็นผลมาจากนำทักษะความเชี่ยวชาญขั้นสูงมาใช้ผลิตเครื่องบิน

 

เครื่องบินตระกูล เอ350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ประกอบไปด้วย เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ 3 รุ่น ซึ่งสามารถทำการบินพิสัยไกลได้ถึง 8,500 ไมล์ทะเล (15,580 กิโลเมตร) หากแบ่งจากการจัดวางเป็น 3 ชั้นโดยสาร เครื่องบินเอ350-800  จะสามารถบรรทุกได้ 270 ที่นั่ง ขณะที่เอ350-900 และ เอ350-1000 สามารถบรรทุกได้ 314 และ 350 ที่นั่งตามลำดับ