นานาชาติชู IoT เป็นโอกาสอนาคต ด้าน CAT เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ IoT
นานาชาติชู IoT เป็นโอกาสอนาคต ด้าน CAT เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ IoT
งานประชุมระดับนานาชาติ Telecoms World Asia 2018 ชูโอกาสจากการขับเคลื่อนเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและนานาชาติ
เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. 2561 ผู้นำด้านธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกเข้าร่วมประชุมงานประชุมระดับนานาชาติ Telecoms World Asia 2018 ณ ศูนย์การประชุมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพ โดยมีการพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ในภาคธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวในระหว่างการเปิดงานว่า เทคโนโลยี IoT กำลังเป็นกระแสนิยมทีมีผลต่อชีวิตบุคคลและการขับเคลื่อนธุรกิจ
IoT หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” คือการที่อุปกรณ์ต่างๆถูกเชื่อมโยงสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ เว็บไซต์ด้านเศรษฐกิจ Business Insider คาดการณ์ว่าเทคโนโลยี IoT จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโลกถึง 6 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (187 ล้านล้านบาท) ขณะที่อุปกรณ์ IoT ในโลกจะเพิ่มจำนวนจาก 10,000 ล้านเครื่องในปี 2558 เป็น 24,000 ล้านเครื่องภายในปี 2563
“การขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี IoT เป็นนวัตกรรมที่กำลังถูกคาดหวังมากที่สุดในวงการไอที แต่ก็เป็นสิ่งที่คนยังมีความเข้าใจน้อยที่สุดเช่นกัน” ดร.ดนันท์กล่าว
บริษัทวิเคราะห์ด้านการตลาด Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าเทคโนโลยี IoT จะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยถึง 973 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (32,000 ล้านบาท) ภายในปี 2563
ดร.ดนันท์กล่าวว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายขับเคลื่อน IoT โดยมีการอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้าง “สถาบัน IoT” ใน พื้นที่ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ภายใต้นโยบายไทยแลนด์4.0 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่าอุตสาหกรรมด้าน IoT จะอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการลงทุนใน 7 ปีข้างหน้า”
“CAT ได้ริเริ่มใช้เครือข่าย LoRa สำหรับ IoT เมื่อปีที่แล้ว” ดร.ดนันท์กล่าว ”เรากำลังเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของ IoT ในอนาคต ซึ่งจะต้องการพื้นที่ในการใช้งานเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น IoT”
CAT เปิดกว้างในการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอื่นๆเพื่อพัฒนาการบริการด้านดิจิทัลให้ดีที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลจากตลาดโทรคมนาคมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และยังมีโครงการของรัฐบาลที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ตลาดโทรคมนาคมไทยในปี 2560 เติบโต 9.5% และสร้างมูลค่ามากกว่า 21,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (6.6 แสนล้านบาท) ขณะที่ตลาดด้านการสื่อสารเติบโตที่ 12.2% คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (3.7แสนล้านบาท)
โดยการเติบโตของตลาดกระจุกตัวอยู่ที่บริการมือถือ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือกำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยมีจำนวนมือถือที่ลงทะเบียน 93.61 ล้านเครื่อง คิดเป็น 135% ของประชากร มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำที่ 51 ล้านคนและมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านมือถือ 46 ล้านคน
ขณะที่การทำธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีหลายปัจจัย เช่น มีความต้องการของผู้บริโภคการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและพื้นที่ทำธุรกรรมอิเล็คทรอนิกส์ที่ขยายเป็นวงกว้าง
ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย CAT เปิดเผยว่า “เรายังต้องการโครงสร้างพื้นฐานอีก ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจที่ให้การสนับสนุน IoT ในประเทศนี้ บริษัทและผู้บริโภคต่างตระหนักว่า IoT สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในงานของเขาได้ ซึ่งการขับเคลื่อน IoT ตลาดก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ผู้บริโภคจำนวนมากต้องตระหนักก่อนว่า IoT จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร”
“ CAT ริเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหนุนเทคโนโลยี IoT ในโครงการ Phuket Smart City ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆรวมถึงเซนเซอร์อากาศคู่กับเทคโนโลยี IoT โดยประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โครงการนี้เป็นการนำร่องเศรษฐกิจดิจิตอลในจังหวัดภูเก็ตภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจะมีการนำร่องในจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่นในเร็วๆนี้”
ทั้งนี้ระหว่างงานประชุม Telecoms World Asia 2018 ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจโทรคมนาคมต่างให้ความเห็นตรงกันว่ากระแสนิยมต่อเทคโนโลยี IoT จะทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและต้องการหาหุ้นส่วน รวมทั้งต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
“IoT คือโอกาสสำคัญ การเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์ IoT จะทำให้เราต้องการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟเบอร์ ศูนย์ข้อมูล และมือถือที่มากขึ้น” Fabrizio Civitarese ประธานภาคเอเชียแปซิฟิคประจำบริษัท Global Cloud Xchange กล่าว
Alice Au รองประธานส่วน International Carrier Services ประจำบริษัท China Unicom Global กล่าวว่าบริษัทของตนเคยทำรายได้หลักจากการขายทรัพยากรในธุรกิจโทรคมนาคม ปัจจุบัน บริษัทต้องปรับตัวมาให้บริการด้าน IoT
“หนึ่งในความท้าทายของภาคธุรกิจโทรคมนาคมคือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้รวดเร็วพอที่จะไล่ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ” Alice Au กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวงเสวนาย่อย “Addressing the challenge of security in a connected world” ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลถึงการแพร่กระจายของอุปกรณ์ IoT ซึ่งกำลังมีผลต่อการคุกคามบนโลกไซเบอร์
Juni Yan รองประธานฝ่ายความปลอดภัยประจำบริษัท AMEA กล่าวว่าการคุกคามดังกล่าวสามารถมองได้สองมุม ได้แก่ มุมของผู้บริโภค ซึ่งบุคคลหนึ่งๆสามารถตกเป็นเป้าการคุกคามบนโลกไซเบอร์ และมุมของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งการคุกคามเกิดขึ้นในภาพใหญ่ เช่น การเกิดสงครามการเมืองบนโลกไซเบอร์และการก่อการร้าย ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ
“เครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานบนอินเตอร์เน็ตเปิดกว้างมาก และทำให้การรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์มีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น” Juni Yan กล่าว “ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการยกระดับการรักษาความปลอดภัย”
Juni Yan กล่าวเพิ่มเติมว่ามีบริษัทที่คิดค้นโปรแกรมการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์จำนวนมาก แต่กลับกระจัดกระจาย จึงเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้โปรแกรมเหล่านั้นถูกนำมารวมอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และสามารถยกระดับความปลอดภัยในทุกส่วนของพื้นที่ทางไซเบอร์