นักวิทย์ฯ ไทยประสบความสำเร็จ ในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก

0
590
image_pdfimage_printPrint

-มงคล_3172-3

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาการตรวจหาเชื้อ HIV ในเด็กแรกคลอด ด้วยวิธีการตรวจแบบ HIV-PCR ตรวจหา DNAของเชื้อ HIV ในเลือดเด็ก รู้ผลเร็ว ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น มั่นใจไทยจะเป็นประเทศแรกๆของโลกที่สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ ตามเป้าที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ คือไม่เกินร้อยละ 2 ภายในปี พ.ศ. 2560
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยตรวจพบการติดเชื้อ HIV ในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ปี 2531 และพบว่าโอกาสที่ทำให้เด็กได้เชื้อ HIV จากแม่ สาเหตุสำคัญอันดับต้นๆร้อยละ 50-60 คือช่วงระหว่างการคลอดหรือ 1-2 สัปดาห์ก่อนคลอด เชื้อจะเข้าสู่ตัวเด็กระหว่างมดลูกบีบรัดตัวตอนเจ็บท้องคลอดหรือมีเลือดแม่ปนเปื้อนตัวเด็กขณะคลอด รองลงมาคือการได้รับเชื้อขณะอยู่ในครรภ์แม่ผ่านทางสายรกเข้าสู่ลูก และโดยผ่านการให้นมแม่เข้าสู่ปากและทางเดินอาหารของลูกซึ่งพบประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้หากไม่มีการป้องกันเด็กจะมีโอกาสติดเชื้อจากแม่สูงถึงร้อยละ 20-45 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกมาแล้วตั้งแต่ ปี2536 โดยเริ่มตรวจหาการติดเชื้อ HIV ในหญิงตั้งครรภ์ และให้ยาต้านไวรัสสูตรรวม 3 ตัว ในรายที่ติดเชื้อ ให้เด็กทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อกินนมผสมทดแทนนมแม่เป็นเวลา 18 เดือน รวมถึงการตรวจการติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ยากดระดับไวรัสในกระแสเลือดไม่ให้มีการแพร่เชื้อ
ปี2547 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เริ่มพัฒนาการวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV ในเด็กแรกคลอดที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ โดยนำการตรวจ HIV-PCR มาใช้ในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กอายุ 1 เดือน ด้วยการใช้ตัวอย่างเลือดจากกระดาษซับเลือด นำมาตรวจหา DNAของเชื้อเอชไอวีในเลือดเด็ก วิธีการดังกล่าวนี้ช่วยให้การวินิจฉัยเชื้อ HIV ทำได้รวดเร็วขึ้น และมีประโยชน์ในการรักษามากกว่าการตรวจหาภูมิคุ้มกันโดยไม่ต้องรอจนกระทั่งเด็กอายุครบ 18 เดือน กรณีที่พบเด็กติดเชื้อจะเปลี่ยนยาจากสูตรป้องกันเป็นสูตรรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแลรักษาเด็กได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เด็กมีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.อภิชัย กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนให้การตรวจ HIV-PCR เป็นบริการตรวจฟรีในเด็กไทยทุกคนที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ โดยผลการตรวจ HIV-PCR ในรอบ 10 ปี (พ.ศ.2549-2558) ทั้งสิ้น 43,763 ตัวอย่าง พบผลบวก 1,230 ตัวอย่างหรือร้อยละ2.81 อัตราการติดเชื้อในปี 2558 ลดลงจากปี 2549 จากร้อยละ 5.41 เหลือเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งพบว่าภาพรวมอัตราการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากการให้ยาต้านไวรัส สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIVทุกราย และให้เด็กดื่มนมผสมแทนนมแม่ 18 เดือน และการวินิจฉัยการติดเชื้อ HIVในเด็กให้เร็วที่สุดเพื่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิผล
“ซึ่งข้อมูลการตรวจ HIV-PCR ของเครือข่ายห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยยืนยันความสำเร็จของประเทศไทย ในการเป็นประเทศแรกๆของโลกที่จะยุติการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้สำเร็จตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติที่กำหนดไว้คือน้อยกว่าร้อยละ 2 ภายในปี พ.ศ. 2560 ”นพ.อภิชัยกล่าว
นางหรรษา ไทยศรี นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยทางคลินิก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่าปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคนต่อปี และมีเด็กประมาณ 4,800 คนที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ HIV การตรวจ HIV-PCR เป็นวิธีการตรวจหาการติดเชื้อในเด็กแรกคลอดที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจในเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ตั้งแต่แรกคลอด อายุ 2-7 วัน โดยใช้ตัวอย่างเลือดจากกระดาษซับเลือด ซึ่งจะได้ผลการตรวจครอบคลุมทั้ง 2 โรค คือ โรคเอดส์และโรคเอ๋อ ทำให้ครอบคลุมและเข้าถึงการตรวจเด็กที่ได้รับเชื้อ HIV มีมากถึงร้อยละ 94 ในขณะที่การตรวจแบบเดิมคือการเจาะเลือดซึ่งในเด็กเล็กทำได้ยาก การส่งตรวจมีค่าใช้จ่าย และต้องส่งตัวอย่างเลือดเพื่อไปตรวจในห้องแล็ปภายใน 48 ชั่วโมง ใช้ระยะเวลาตรวจจนทราบผลประมาณ 1 เดือน
ส่วนการตรวจแบบ HIV-PCR จะใช้ระยะเวลาตรวจจนทราบผลไม่เกิน 5 วัน โดยได้มีการพัฒนาวิธีการสกัดตัวอย่าง เป็นชุดสกัดแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพของตัวอย่าง และมีการพัฒนาเทคนิคการตรวจเป็นแบบ Real Time PCR โดยจะมีโปรแกรมช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำสูง หากพบผลบวกแพทย์จะใช้ผลการตรวจนี้เพื่อรักษา เปลี่ยนยาจากสูตรป้องกันมาเป็นสูตรรักษาด้วยยาต้านไวรัสแทน เพื่อลดโอกาสเป็นเอดส์ นอกจากรายงานผลทางเอกสารแล้วจะมีการจัดการเชิงรุกด้วยการโทรสายตรงไปที่โรงพยาบาลแจ้งให้ตรวจซ้ำ เพื่อให้ทางโรงพยาบาลจัดการเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งจะมีการติดตามผลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปี 2559 นี้ได้มีโครงการวิจัยบูรณาการร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ ให้สามารถตรวจแบบ HIV-PCR โดยใช้กระดาษซับเลือด คาดว่าภายในปี 2560 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯทุกแห่งจะสามารถให้บริการตรวจแบบเดียวกันนี้ได้