นักวิจัยองค์การสวนพฤกษศาสตร์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าจากพืชสกุลมหาหงส์

0
553
image_pdfimage_printPrint

พรรณพืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ประกอบด้วยชนิดพืชที่มีความหลากหลายสูง สำหรับในประเทศไทยมีความหลากหลายของพืชวงศ์ขิงข่ามากที่สุดในโลก โดยพบพืชในวงศ์นี้ 24 สกุลจาก 48 สกุล ประมาณ 300 ชนิดจาก 1,400 ชนิด โดยมนุษย์ได้นำพืชในวงศ์ขิงข่านี้มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งในด้านอาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ ยารักษาโรค ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ แบบรุ่นสู่รุ่น และมีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน หลังจากที่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ในรูปของสารสกัดจากพืช (plant extracts) น้ำมันหอมระเหย (essential oil) ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง น้ำหอม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยมีส่วนผสมของพืชสมุนไพรเกิดขึ้นมากมายและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายเนื่องจากปลอดภัยกว่าการใช้สารสังเคราะห์ทางเคมีไม่มีพิษต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และมีพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายชนิด
สำหรับพืชในสกุล “มหาหงส์” (Hedychium) ซึ่งจัดเป็นพืชสกุลหนึ่งในวงศ์ขิงข่าที่พบในประเทศไทยประมาณ 23 ชนิด สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้มีการรวบรวมพันธุ์ของมหาหงส์ชนิดต่างๆ และได้ทำการศึกษาวิจัยโดยดร. รัชชุพร สุขสถาน นักวิจัยขององค์การพฤกษศาสตร์ และทีมงาน เพื่อพัฒนาความรู้และการใช้ประโยชน์ของพืชในสกุลนี้ร่วมกับผู้ร่วมวิจัยพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยจากการศึกษาวิจัยได้ทำการคัดเลือกพืชในสกุลมหาหงส์จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ตาเหินหลวง (H. stenopetalum) ตาเหินภู (H. neocarneum) และมหาหงส์เหลือง (H. flavescens) จากการศึกษาสารสกัดธรรมชาติจากเหง้าพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่ดี จึงได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการบวมของผิวหนัง (Body Massage Cream อนุสิทธิบัตรเลขที่ 11071) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลดริ้วรอย รอยด่างดำ ประกอบด้วย Day & Night Facial Cream (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 11070) และ Facial Serum (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 11903) อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ชุดนี้ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตในปริมาณมากได้ เนื่องจากต้นพันธุ์ของพืชยังไม่เพียงพอต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม สำหรับการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของกลิ่นดอกมหาหงส์ทั้งสามชนิด พบว่ามีสารที่ช่วยให้คลายเครียด ช่วยให้นอนหลับสนิท จึงได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นมหาหงส์ อาทิเช่น น้ำหอม น้ำหอมกระจายกลิ่น ซึ่งผลิตออกมา 2 แบบคือ กลิ่น Elegance และ กลิ่น Serenity
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชาเขียวอู่หลงแต่งกลิ่นมหาหงส์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีการผลิตตามมาตรฐาน จดแจ้ง อย. และจดแจ้งเครื่องสำอางจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ Golden Gardenia Brand ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ และปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับมือและผิวกายกลิ่นมหาหงส์ เพื่อการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2560 นี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการต่อยอดงานวิจัยและช่วยเพิ่มคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของประเทศไทยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี