กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้วางแผนแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอรับทุนส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดข้อจำกัดในการให้ทุนและการอนุมัติดำเนินโครงการวิจัย โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนใหม่ครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กทปส. และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ กทปส. ฉบับใหม่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2560 – 2564) รวมถึงตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล Thailand 4.0 อีกด้วย
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการ กทปส. เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา จากข้อจำกัดในหลักเกณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้จำนวนของโครงการ ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเงินทุนสนับสนุนมีจำนวนไม่มาก ประกอบกับหัวข้อโครงการวิจัยที่ผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเสนอมาไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และมีโครงการซ้ำซ้อนกัน จึงเป็นเหตุให้การจัดสรรทุนไม่เป็นไปตามกรอบวงเงินที่ กทปส กำหนดไว้ โดยในปี 2556 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติเงินทุนจำนวน 10 โครงการ รวมวงเงิน 32.53 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด 150 ล้านบาท และในปี 2557 ผ่านการอนุมัติจำนวน 33 โครงการ รวมวงเงิน 155.709 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งหมด 600 ล้านบาท และในปี 2558 เพิ่งประกาศโครงการที่ผ่านการอนุมัติ ประเภทที่ 2 ครั้งที่ 1 จำนวน 6 โครงการ รวมวงเงิน 77.424 ล้านบาท และอีกบางส่วนยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งมีกรอบวงเงินทั้งหมด 1,000 ล้านบาท”
โดยที่ผ่านมา กทปส. ได้มีหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ทุนส่งเสริมสนับสนุนประเภททั่วไป ซึ่งผู้ขอรับทุนสามารถยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนได้หากโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
ประเภทที่ 2 โครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด โดยจะมีการประกาศขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) เพื่อให้ผู้ขอรับทุนยื่นข้อเสนอในการดำเนินงานให้ตรงกับขอบเขตงานที่ประกาศไว้
ประเภทที่ 3 สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นายนิพนธ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ โดยยกตัวอย่างคุณสมบัติของผู้ยื่นขอโครงการ ต่อไปจะเปิด กว้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและเกิดการแข่งขัน โดยก่อนหน้านี้การจัดสรรทุนในบางลักษณะได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และต่อไปในอนาคตอาจจะมีการกำหนดหัวข้องานวิจัยให้ชัดเจน และพิจารณาโครงการโดยให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคนิค และราคาประกอบอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดโครงการที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของ กสทช. มากขึ้น
นอกจากนี้ ตามแนวทางใหม่จะเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน ได้แก่ ทุนประเภทที่ 1 หรือ “ทุนเปิดกว้าง” โดย กทปส. จะกำหนดหัวข้อวิจัย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ขอทุนต้องเสนอเรื่องวิจัยเข้ามาเอง ทำให้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และยุทธศาสตร์ของ กทปส. โดยทุนลักษณะดังกล่าวต้องการให้ผู้ขอรับทุนแข่งขันกันพัฒนาโครงการโดยมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ หรือให้เกิดกระบวนการวิจัยที่หลากหลาย เป็นต้น ทุนประเภทที่ 2 จะมุ่งเน้นการจัดสรรทุนตามนโยบายของคณะกรรมการฯ แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย คือ 2.1 ทุนมุ่งเป้า โดยจะมุ่งเน้นการดำเนินโครงการที่ถือเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐ กสทช และคณะกรรมการบริหารกองทุน 2.2 ทุนต่อยอด จะเป็นการสนับสนุนโครงการที่เคยได้รับทุนแล้ว โดยเป็นโครงการที่มีผลการดำเนินงานดีและมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หรือหากหยุดโครงการอาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย และ 2.3 ทุนทั่วไป จะเป็นการให้การทุนเพื่อสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ โดยไม่มีเงื่ิอนไขผูกมัด ซึ่งอาจเป็นการให้เงินสปอนเซอร์แบบครั้งเดียวจบ ซึ่งรายละเอียดการให้ทุนประเภทต่างๆ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวงเงินที่ชัดเจน
นายนิพนธ์ กล่าวปิดท้าย “หลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวได้ผ่านคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการรอให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ ช่วยกันให้ความเห็น คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณาและสามารถใช้เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งใกล้เคียงกับการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ของ กทปส. ฉบับใหม่ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่ได้วางเป้าหมายและทิศทางการจัดสรรเงินโดยมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมไว้ 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการเงิน (Finance) การเกษตร (Agriculture) สุขภาพ (Health) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งครอบคลุมในมิติของคอนเทนต์ แพลตฟอร์ม การเชื่อมโยงเครือข่าย และแอปพลิเคชั่น ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการที่เกี่ยวโยงและต่อเนื่อง”