นวัตกรรมด้านซัพพลายเชนพุ่งสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสิทธิภาพของการทำงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

0
409
image_pdfimage_printPrint

บทความโดย นายเวสเลย์ โคววาสกี, หัวหน้าประจำภูมิภาคอาเซียน, อินโฟร์

ระบบซัพพลายเชนทั่วโลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในทุกวงการ จากข้อมูลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index: LPI) ของธนาคารโลกปี 2561 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากอันดับ 45 ในปี 2559 และนับเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงค์โปร์ กองยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดให้การพัฒนาเพิ่มมูลค่าซัพพลายเชน เป็นหนึ่งในสามยุทธศาสตร์ ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐให้การสนับสนุนให้มีการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยการพัฒนาระบบ NSW เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชน การวางแผนบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ของภาคธุรกิจ (E-Logistics)

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าผ่านรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่ให้ความสำคัญกับการซื้อขายและการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การใช้อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) และอื่นๆ มาพัฒนาการบริหารจัดการคลังสินค้า นวัตกรรมการขนส่งและธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น Drone Delivery แนวโน้มในการนำหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นมาใช้ในกระบวนการผลิต ล้วนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการซัพพลายเชนทั้งสิ้น

สิ่งประดิษฐ์และความรู้ใหม่ๆ ช่วยให้ผู้คนสามารถจัดซื้อจัดหาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ มาใช้งาน และเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย และคุ้มค่าการลงทุนมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เทคโนโลยีได้ฝังตัวมากับฟังก์ชั่นการทำงานทุกฟังก์ชั่นอย่างสมบูรณ์ในแวดวงซัพพลายเชนทั่วโลก ในการประชุมด้านซัพพลายเชนต่างๆ วิทยากรจะพูดเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีเสมอ อาจกล่าวได้ว่า หุ่นยนต์ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง รถบรรทุกไฟฟ้า บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ และความสามารถใหม่ๆ ที่ใช้งานได้แบบโมบาย ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าเทคโนโลยีใดจะเป็นดั่งแฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ นวัตกรรมของระบบซัพพลายเชนไม่ได้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีต้องใช้ แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจอยู่ในช่วงทดลองใช้ก็ตาม

เทรนด์ด้านซัพพลายเชน
เมื่อผู้นำทางความคิดพูดคุยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จะมีสองสามหัวข้อที่มักอยู่ในการสนทนานั้นๆ เสมอ แม้ว่าจะยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนแต่เมื่อเวลาผ่านไปผลลัพธ์จากการนำไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นตัวพิสูจน์ ข้อมูลต่างๆ ต่อไปแม้ว่าอาจจะไม่ครบถ้วน แต่จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในช่วงอีกหลายเดือนและหลายปีต่อจากนี้ ซึ่งก่อให้เกิดกรณีใช้งานที่ได้ผลสำหรับอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น

อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตจะฝังรากลึกอยู่ในระบบซัพพลายเชนต่างๆ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วและอยู่ใกล้ตัวเรา เช่น เครื่องใช้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น สวิทช์ไฟ และเครื่องควบคุมอุณหภูมิที่เชื่อมกับอินเทอร์เน็ตและควบคุมการทำงานด้วยโมบายแอปพลิเคชั่น ระบบซัพพลายเชนก็เช่นกันที่ต้องเกี่ยวข้องกับ IoT ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในสายการผลิตใหม่ๆ รถบรรทุกคันใหม่ ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ไปจนถึงประตูรั้วเลยทีเดียว เครื่องจักรใหม่ๆ ต่างมีความพร้อมในการส่งข้อมูลสภาพความพร้อมในการทำงาน และประสิทธิภาพของมันเองอย่างละเอียดไปยังศูนย์บัญชาการกลางที่บริษัทต่างๆ ใช้ติดตามตรวจสอบระบบซัพพลายเชนของตน การได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียดที่หลั่งไหลเข้ามาในเวลาเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบรู้ทันทีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้มั่นใจว่าสินค้าคงคลังจะมีการไหลเวียนได้อย่างราบรื่นมากที่สุด

สำหรับวงการซัพพลายเชน บล็อกเชนยังคงเป็นภาพจินตนาการในวงกว้าง และเราควรจะได้เห็นกรณีการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง แม้บล็อกเชนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นไปได้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีการใช้งานในวงกว้างในอุตสาหกรรมซัพพลายเชน ทั้งนี้ ฟอเรสเตอร์คาดการณ์ว่าเราจะยังไม่ได้เห็นโซลูชั่นที่จะนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์จนกว่าจะถึงปี พ.ศ. 2568 อย่างไรก็ตาม ซีไอโอขององค์กรต่างๆ ตื่นเต้นกับเรื่องนี้ บริษัทบางแห่งจะทำโครงการร่วมกับเวนเดอร์ด้านไอที เพื่อหาทางว่าจะใช้บล็อกเชนให้เป็นประโยชน์กับระบบซัพพลายเชนของตนให้มากที่สุดได้อย่างไร เราสามารถคาดหวังได้ว่าจะมีแนวคิดด้านบล็อกเชนที่หลากหลายเกิดขึ้นเพราะบริษัทต่างๆ และสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นใหม่ ต่างจะพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้

โซลูชั่นที่เป็น sharing economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน จะเข้าเปลี่ยนแปลงบริการด้านโลจิสติกส์อย่างมาก บริษัทต่างๆ เช่น Airbnb ได้พิสูจน์แล้วว่าโมบายแอปที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี มีศักยภาพมหาศาล เช่นเดียวกับ Uber และบริการอื่นๆ ที่กำลังจัดตั้งเครือข่าย เพื่อให้บริการแพคเกจกับผู้บริโภคด้วยการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลของพวกเขา การบริการลักษณะเหล่านี้เหมือนการคิดนอกกรอบ และความสำเร็จที่ได้เป็นการยืนยันที่เป็นรูปธรรม จึงคาดกันว่าแนวคิดนี้จะขยายไปยังการใช้ยานพาหนะขนาดใหญ่ เช่นรถตู้และรถบรรทุกส่วนบุคคล เพื่อเป้าหมายในการรับมือกับภาระที่ใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จะกลายมาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นการทำงานของระบบซัพพลายเชนในภาพรวม เมื่อช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การมองเห็นและรับรู้การทำงานนี้รวมอยู่ในประเภทของเทคโนโลยีด้านซัพพลายเชนอื่น เช่น การวางแผนทรัพยากรขององค์กร ระบบจัดการการขนส่ง ระบบบริหารคลังสินค้า การบริหารการค้าโลก การวางแผนซัพพลายเชน การวางแผนขายและการดำเนินงาน

การ์ทเนอร์ได้เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับความชัดเจนและการมองเห็นระบบซัพพลายเชน (Supply Chain Visibility: SCV) เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาว่าเป็น “กรอบการทำงาน (framework)” หนึ่ง ซึ่งหมายความว่า SCV กำลังจะเป็นหมวดหมู่เทคโนโลยีหมวดหมู่หนึ่ง บริษัทต่างๆ ยังได้ออกเอกสารที่แสดงข้อมูลสมรรถนะต่างๆ ที่ตนต้องการ (Request for Proposal: RFP) และแน่นอนว่าการใช้งานได้อย่างเต็มที่เป็นการแสดงให้เห็นว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีนัยสำคัญ ผู้นำด้านระบบบริหารซัพพลายเชนต่างให้ความเห็นว่า SCV อาจเป็นหนึ่งในรายงาน Magic Quadrant ของ Gartner ในเร็วๆ นี้

เทคโนโลยีซัพพลายเชน
หากบริษัทต่างๆ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดี๋ยวนี้ พวกเขาอาจพบว่าตัวเองกำลังเดินสู่ความล้มเหลว ในบางแง่มุม ความยอดเยี่ยมของระบบซัพพลายเชนสามารถปกป้องผู้ครองตลาดที่มีชื่อเสียง จากนวัตกรรมที่ทันสมัยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ เพราะศิลปะในการผลิตและจัดส่งสินค้าทั่วโลกยังคงต้องการกระบวนการที่เกิดจาก “ประสบการณ์ที่ช่ำชอง” ที่ยังไม่จางหายไป อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ควรลงทุนหรือทดสอบแนวคิดดังกล่าว หรือแนวคิดอื่นๆ อย่างชาญฉลาด และนำมาสร้าง DNA ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

Amazon และ Uber อาจเป็นผู้นำที่โดดเด่นในปัจจุบัน แต่อาจมีอีกหลายบริษัทที่มีนวัตกรรมที่กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดด้วยรูปแบบการดำเนินงานที่ใช้เทคโนโลยีเป็นแกนนำ ความสามารถของเทคโนโลยีที่กล่าวมานี้ อาจช่วยให้บริษัทของคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำตลาดได้