นวัตกรรมจาก “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ของซัมซุง จากแนวคิดสู่แนวปฏิบัติที่พร้อมใช้ต่อยอด เพื่อพัฒนาเด็กไทยสู่อนาคต

0
349
image_pdfimage_printPrint

ในวันที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ผลักให้โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน เพื่อเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมเติบโตในโลกอนาคต นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณครูหลายคน เริ่มต้นมองหานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเอง และหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณครูในยุคนี้ก็คือ นวัตกรรมการเรียนรู้จาก “ห้องเรียนแห่งอนาคต” โดยโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต
โครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต เป็นโครงการเพื่อสังคมของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจพัฒนา “ทักษะศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าให้กับเด็กไทย ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” โดยการประสานกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่ นวัตกรรม เทคโนโลยี และชวนคุณครูมาปรับบทบาท จากการเป็นผู้สอนหนังสือหน้าชั้นเรียน ให้กลายมาเป็นผู้คอยสนับสนุนให้เด็กๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
โครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556 กับ 10 โรงเรียนนำร่อง จนปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 50 แห่งจากทั่วประเทศ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คุณครูและนักเรียนในโครงการฯ ได้รวมพลังกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่สามารถเปลี่ยนห้องเรียนธรรมดา ให้กลายเป็นห้องเรียนแห่งอนาคต ซึ่งทางซัมซุง ได้ทำการส่งมอบข้อเรียนรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) เพื่อให้คุณครูทั่วประเทศนำไปใช้ประโยชน์ได้
นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ครูในยุคต่อไปจะไม่จัดการเรียนการสอนเพื่อบอกความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นครูที่มีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติงานในลักษณะ Active Learning โดยธรรมชาติ เพราะการเรียนในโลกอนาคต คือการเรียนที่ใช้สมรรถนะของผู้เรียนเป็นฐานในการเรียนรู้
“รูปแบบของซัมซุง สามารถตอบโจทย์ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา ทั้งในห้องเรียน ในชุมชน รวมถึงโลกกว้างในอนาคต”
ด้าน นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต กล่าวว่า แนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ของซัมซุง ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

“ในตอนแรกคุณครูอาจจะยังไม่คุ้นเคย เพราะต้องปรับตัวจากครูมาเป็นโค้ชที่พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ แต่เมื่อปรับตัวได้แล้ว คุณครูก็สามารถนำแนวคิดของโครงการฯ ไปสร้างสรรค์ต่อยอด เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกัน มีความท้าทายที่แตกต่างกัน คุณครูแต่ละท่านจึงได้ประยุกต์แนวคิดของโครงการฯ ให้เหมาะสมกับลูกศิษย์ของตน จนเกิดเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ 4 แนวทาง ซึ่งล้วนแต่มีความน่าสนใจในตัวเอง”

ห้องเรียนสร้างพลัง
นวัตกรรมนี้คือห้องเรียนที่คุณครูเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กๆ และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ลงมือแก้ปัญหาต่างๆ โดยคุณครูคอยกระตุ้นหนุนเสริมให้เด็กๆ ไม่หยุดการเรียนรู้ จนเด็กๆ สามารถแก้โจทย์ยากและปัญหาใหญ่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยให้เด็กๆ มีความมั่นใจในพลังของตัวเองมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างของ “ห้องเรียนสร้างพลัง” ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณครูทั่วประเทศก็คือ “ห้องเรียนสร้างพลัง” ของโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเด็กๆ ต้องการทำโครงงานเพื่อรักษาผืนป่าในชุมชนเอาไว้ อาจฟังดูเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวของนักเรียนชั้นม.ต้น แต่คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูที่ปรึกษาโครงการซัมซุง สร้างพลัง
การเรียนรู้สู่อนาคต เชื่อมั่นว่า เด็กๆ สามารถทำได้ คุณครูจึงคอยสนับสนุนในทุกทาง ทั้งการพาลูกศิษย์ไปเรียนรู้ เรื่องป่าไม้ชุมชน และการคำนวณคาร์บอนเครดิตที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งผลักดันให้เด็กๆ ได้นำเสนอ
ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ จนเกิดเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าที่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม
จากเริ่มต้นทำโครงงานเรื่องป่าชุมชนตอนม.3 จนถึงตอนนี้พวกเขาอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 โดยน้องแฟนและน้องแม็ก ศิษย์เก่าชุมนุมซัมซุง โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ได้มาสะท้องถึงสิ่งที่ตนได้จากการทำโครงงานในครั้งนั้น
“โครงการฯ สอนพวกเราเยอะมาก ผลที่เกิดขึ้นเป็นทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริงกับทุกอย่าง พอไปอยู่มหาวิทยาลัยเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ได้ใช้ทักษะชีวิตทั้งหมด เราได้กระบวนการคิดอย่างนี้จากนอกห้องเรียน เราก็เอาไปปรับใช้ได้และทำให้เรากล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นของเรา” น้องแฟน ปิยฉัตร โพธิ์ศรี
“หลังจากเข้าโครงการฯ มาแล้ว รู้สึกปรับตัวได้ง่ายขึ้น เพราะว่า โครงการสอนให้เราโตขึ้น สอนให้เราทำงานเป็น เข้ากับผู้อื่นได้ สนุกในการเรียนไปด้วย เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้นด้วย” น้องแม็ก คมสัน เสามุกดา

ห้องเรียนขยาย เชื่อมชุมชนเป็นทุนหนุนการเรียนรู้
เมื่อพูดถึงห้องเรียน คนส่วนใหญ่คงนึกถึงห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่อยู่ในอาคารเรียนเท่านั้น แต่คุณครูหลายท่านกลับมีความคิดว่า ห้องเรียนของเด็กๆ ควรจะกว้างใหญ่ยิ่งกว่านั้น คุณครูจึงได้ขยายห้องเรียนให้ครอบคลุมไปยังชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงเรียนด้วย เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสค้นพบรากเหง้าของตนเอง ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์จริง และนำองค์ความรู้รวมถึงทรัพยากรของชุมชน มาช่วยเสริมพลังการเรียนรู้ของเด็กๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรม “ห้องเรียนขยาย เชื่อมชุมชนเป็นทุนหนุนการเรียนรู้”

โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในโรงเรียนร่วมโครงการฯ ที่ได้ขยายห้องเรียนออกสู่ชุมชน เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ทีมคุณครูในโรงเรียนจึงต้องการให้เด็กๆ ได้ค้นพบตัวเองก่อนที่จะเรียนจบชั้นม.ต้น เพื่อที่จะเลือกศึกษาต่อได้ตรงตามความชอบ และความถนัดของตัวเองอย่างแท้จริง คุณครูจึงได้สร้างเครือข่ายร่วมกับผู้รู้และผู้ประกอบการในชุมชน ส่งเด็กๆ ออกไปฝึกอาชีพที่พวกเขาสนใจ ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง รวมถึงมองเห็นเส้นทางชีวิตในอนาคตของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยในรุ่นล่าสุดที่ผ่านมา น้องโก ชยธร พระวงษ์ ผู้ไปเลือกฝึกหมอลำในชุมชน ได้เล่าให้ฟังถึงความรู้สึกที่ได้ไปฝึกอาชีพในชุมชน ที่ตนเป็นผู้เลือกอาชีพเอง
“เวลาไปเรียนในชุมชนจะเป็นตัวเองมากกว่าเป็นในห้อง เรียนในห้องก็เน้นการเรียนในหนังสือ เรียนในชุมชนสนุกมากขึ้นเวลาพ่อๆ แม่ๆ ในชุมชนสอนเรื่องเทคนิคการร้อง สนุกที่ได้ฝึกร้องจริง ตอนไปฝึกอาชีพ ได้ทำจริง ทำให้รู้สึกตัวเองชัดเจนกับความฝันการเป็นหมอลำของตัวเองมากขึ้น”

ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต
งานวิจัยอาจเป็นสิ่งที่หลายคนคงเบือนหน้าหนี เพราะรู้สึกว่ายาก หรือน่าเบื่อหน่าย แต่เด็กๆ ในโครงการ
ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต กลับชื่นชอบทำวิจัยเป็นชีวิตจิตใจ นั่นเป็นเพราะว่า คุณครูในโครงการฯ ได้พัฒนานวัตกรรม “ห้องเรียนมีหัวใจ เมื่องานวิจัยมีชีวิต” เปิดโอกาสให้เด็กๆ ตั้งคำถาม และหาคำตอบในสิ่งที่ตนเองสนใจ พร้อมทั้งสร้างทัศนคติร่วมกันว่า การวิจัยคือการก้าวไปค้นพบสิ่งใหม่ ที่นักเรียนและคุณครูเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องกังวลกับผลลัพธ์ หรือความสำเร็จ
โรงเรียนที่เป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้นี้คือ โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
คุณครูกัณจณา อักษรดิษฐ์ ได้นำกระบวนการ Active Learning ตามแนวทางของโครงการฯ เข้ามาผสานกับการทำวิจัย แทนที่คุณครูจะเป็นผู้กำหนดโจทย์ให้นักเรียนทำตาม คุณครูกลับเปิดโอกาสให้เด็กๆ ม.ต้น ได้ออกไปสำรวจชุมชน เพื่อค้นหาหัวข้องานวิจัยที่พวกเขาสนใจ และสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนได้ ซึ่งในที่สุด เด็กๆ ก็เลือกทำวิจัยเรื่องกบ เพราะคนในชุมชนกำลังประสบปัญหาด้านการเลี้ยงกบ และกบยังเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน เด็กทำงานวิจัยชิ้นนี้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะเป็นหัวข้อที่พวกเขาเลือกเอง และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย
น้องไกด์ ปธานิน จตุนาม หนึ่งในเด็กๆ กลุ่มที่เป็นเจ้าของงานวิจัยกบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ชั้นม.5 แล้ว ได้สะท้อนสิ่งที่ได้จากการทำวิจัยว่า “การทำวิจัยสร้างคนให้เป็นคน มีศักยภาพ กล้าคิด กล้าทำ และกล้าริเริ่มเพื่อแก้ปัญหาของสังคม ชุมชนรอบตัว”

ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21
ในโลกยุคใหม่ที่ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนกว่าในอดีต การแก้ปัญหานั้นต้องอาศัยทักษะและความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา “ห้องเรียนแห่งอนาคต” จึงต้องบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็น

ความสัมพันธ์ของเนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวของกับการใช้ชีวิตในอนาคต และสามารถเชื่อมโยงความรู้มาใช้แก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ในศตวรรษที่ 21 ได้ดียิ่งขึ้น
นี่คือแนวคิดของนวัตกรรม “ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21” ที่คุณครูในโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ได้พัฒนาขึ้น
หนึ่งในโรงเรียนที่นำนวัตกรรม “ห้องเรียนเชื่อมโลก บูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21” มาปรับใช้อย่างเห็นผลก็คือ โรงเรียนศาสนศึกษา จังหวัดปัตตานี ทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตร “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศึกษาศตวรรษที่ 21” ที่บูรณาการวิชาศาสนาและวิชาสามัญเข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆ สามารถก้าวทันโลกอนาคต โดยไม่ต้องละทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน
“การเรียนบูรณาการ คือเอาหลายๆ วิชามารวมกัน ทำให้เวลาเราเราได้ความรู้ที่เป็นปึกแผ่น ทำให้เห็นว่าแต่ละศาสตร์มันก็เชื่อมโยงกัน ถ้าเราเรียนแค่วิชาเดียว ความรู้ที่เราได้ก็จะได้วิชาเดียว แต่การบูรณาการเราก็จะได้ความรู้ที่เชื่อมต่อกัน” ด.ช. อัซรอฟ นริศราวุธ นักเรียนชั้นม.2 หลักสูตรห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 โรงเรียนศาสนศึกษา จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังการเรียนแบบบูรณาการที่ตนได้เรียน ที่แตกต่างจากการเรียนที่เคยเรียนมาตอนป.6
“ป.6 เรียนแยกกัน ศาสนาก็ศาสนา สามัญก็สามัญ วิชาเยอะมาก มาเรียนแบบบูรณาการ ผสมทั้งศาสนาและสามัญรวบทีเดียว ลดทั้งความเครียด เรียนไม่เยอะมาก เวลาเรียนครูจะใส่กิจกรรม พาไปลงชุมชน ไปลงตามพื้นที่ต่างๆ พอเราได้ไปเรียนเอง กับตัวเอง ทำให้เราสนุกกับการเรียนมากขึ้น ซึ่งตอนป.6 บอกเลยว่าเบื่อกับการเรียนมากๆ ตอนนี้รู้สึกอยากไปเรียนตลอด” ด.ญ. อุลยาอ์ หะยีสามะ เสริมทิ้งท้าย

นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวย้ำว่า โครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต เป็นอีกมิติของการจัดการศึกษา ซึ่งทางสพฐ.พร้อมนำข้อเรียนรู้ที่ได้จากโครงการฯ นี้ ไปดำเนินการต่อในโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 7,000 แห่งทั่วประเทศ
“หลังจากนี้ สพฐ. จะนำบทเรียนที่ได้จาก ห้องเรียนแห่งอนาคต เป็นต้นแบบไปขยายผลต่อยอดบูรณาการให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนของกลุ่มสพฐ. และขอให้ทางผู้บริหารและคุณครูช่วยกันสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่เคยเป็นมาให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด”
เพราะนวัตกรรมเหล่านี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นตามตำรา แต่เกิดจากการเรียนรู้ปฏิบัติจริงในห้องเรียนโดยคุณครูและเด็กๆ ในโครงการซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จึงเชื่อได้ว่า นี่จะเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่พัฒนาต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ