ธุรกิจเกื้อกูลสังคมสร้างผลลัพธ์ที่ดีในภาคธุรกิจการเกษตร

0
211
image_pdfimage_printPrint

ธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือ ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Business – IB) ในภาคธุรกิจการเกษตร ที่ได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แห่งฟิลิปปินส์ กำลังปรับปรุงทักษะ เพิ่มผลิตผล และเพิ่มรายได้ของเหล่าเกษตรกร เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังเช่นที่ระบุในรายงานของ United Nations Development Programme-Business Call to Action (UNDP-CtA) และ Philippine Business for Social Progress (PBSP)

รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า ในบรรดาอุตสาหกรรมที่ใช้โมเดลธุรกิจ IB นั้น พบว่าธุรกิจการเกษตรมีศักยภาพมากที่สุด เนื่องด้วยอุตสาหกรรมนี้ได้รวมภาคส่วนต่างๆเอาไว้ด้วยกัน ทั้งเกษตรกรรม สุขภาพ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ธุรกิจการเกษตรยังเหนือกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ ในแง่ของส่วนแบ่งตลาดแรงงานทั่วโลก ตามที่ปรากฏในข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO)

การใช้โมเดลธุรกิจ IB เป็นหนึ่งในมาตรการแรกๆ ที่บริษัทในภาคธุรกิจการเกษตรนำมาใช้ เพื่อต่อยอดขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อย

Coffee for Peace (CFP) ของฟิลิปปินส์ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง โดยบริษัทได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเกษตรกรรมในแถบภูเขาอาโป (Mount Apo) จำนวน 72 ครอบครัว ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกกาแฟและการแปรรูป เพื่อปรับปรุงผลผลิตกาแฟทั้งปริมาณและคุณภาพ หลังจากได้รับความรู้จาก CFP เป็นเวลาสองปี ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้สร้างสหกรณ์และทำรายได้ถึงประมาณ 87,750.00 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนอกจากชุมชนบริเวณภูเขาอาโปแล้ว CFP ยังทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอีกสองกลุ่มในฟิลิปปินส์

“การลงทุนในภาคการเกษตรมีความสำคัญสำหรับเราในแง่ของความมั่นคงด้านอาหารและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่” เซเฟริโน โรดอลโฟ ปลัดกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ และหัวหน้าผู้จัดการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าว “หากมองโมเดลธุรกิจ IB ในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนให้ลึกลงไป จะพบว่าการมอบโอกาสให้กับผู้เล่นรายเล็กๆ สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ทั้งยังสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่แข็งแกร่งอีกด้วย”

อีกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทในภาคการเกษตรที่ใช้โมเดลธุรกิจ IB คือ บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ซึ่งทำงานร่วมกับชาวนายากจนกว่า 1,100 คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อปลูกข้าว “แจสเบอร์รี่” (Jasberry) ซึ่งเป็นข้าวหอมนิลสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (non-GMO) และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดต้นทุนการผลิต ทางสยามออร์แกนิคยังได้จัดฝึกอบรมกรรมวิธีการปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ หรือข้าวออร์แกนิค ให้แก่เหล่าเกษตรกรอีกด้วย

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแจสเบอร์รี่ร่วมกับสยามออร์แกนิค มีรายได้มากกว่าถึง 14 เท่าเมื่อเทียบกับ ชาวนาไทยโดยเฉลี่ย โดยก่อนที่สยามออร์แกนิคจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือนั้น เกษตรกรไม่มีตลาดรองรับ แต่ปัจจุบัน เกษตรกรเหล่านี้สามารถเข้าถึงตลาดไทยและตะวันตก ผ่านทางสยามออร์แกนิคที่รับหน้าที่ตั้งแต่ดำเนินการวิจัยและพัฒนา ทำการตลาด ไปจนถึงดูแลด้านโลจิสติกส์

สื่อมวลชนติดต่อ
Anthony Quijano
apquijano@teamasia.com
โทร. +63-917-824-9109