“ธุรกิจคึกคักรับปีใหม่ เตรียมขยายระบบไอทีสร้างความเป็นองค์กรชั้นนำเตรียมเข้าสู่ยุค Global Marketing”

0
341
image_pdfimage_printPrint

จากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลังสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2561 ที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 3.8 ทำให้กลุ่มธุรกิจมีความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจ ซึ่งมีแนวโน้มมุ่งเน้นการขยายระบบไอทีองค์กรตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจสู่ Thailand 4.0 โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) พบว่าปี 2560 มีการขยายตัวของบริการวงจรสื่อสารข้อมูลสำหรับองค์กรเติบโตสูงขึ้นจากปี 2559 ที่ร้อยละ 2.6 ด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 15,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2561

นายสมยศ ธนพิรุณธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัดมหาชน (CAT) หนึ่งในผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมากว่า 30 ปี ได้เปิดเผยถึงทิศทางตลาดบริการสื่อสารข้อมูลปี 2561 ในภาพรวมว่า “ สำหรับการพัฒนาระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลองค์กรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลส่วนบุคคลความเร็วสูงในการเชื่อมโยงระบบงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เข้ารหัสสัญญาณทำให้มีความปลอดภัยระดับสูง อีกทั้งช่องสัญญาณขนาดใหญ่ที่สามารถใช้งานได้แบบ Real-time ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดสามารถให้บริการกับภาคประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และยังรักษาความปลอดภัยข้อมูลของหน่วยงาน/บุคคลที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ถูกผลักดันจากนโยบายภาครัฐ

แต่สำหรับในปี 2561 การขยายตัวของการวางระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลองค์กรจะมีการขยายตัวในกลุ่ม บริษัท/ธุรกิจ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มากขึ้น โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีฐานการผลิต / การตลาด / การบริหารจัดการ เป็นแบบธุรกิจระหว่างประเทศหรือ MNCs ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจกันแบบ Real-time ทำให้ขั้นตอนในธุรกิจทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นการตลาดแบบ Global Marketing ที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งการวางระบบไอทีล้ำสมัยจะกลายมาเป็นกลยุทธ์ระดับองค์กรของธุรกิจยุคใหม่ โดยจะไม่ได้มองในมิติของการเพิ่มผลผลิตในธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องการเพิ่มศักยภาพระบบงานเพื่อสร้างความเป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจ รวมไปถึงการลดความเสี่ยงต่างๆ สำหรับความสูญเสียในธุรกิจ ดังนั้นหน่วยงานเหล่านี้จะมีการวางระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลองค์กรด้วยวงจรสื่อสารข้อมูลส่วนบุคคลความเร็วสูง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระบบงานกับหน่วยงานสาขา /บริษัทในเครือ และ/หรือ คู่ค้า/ซัพพลายเออร์ ที่ต้องเชื่อมโยงระบบแบบ Exclusive และมีการรับ-ส่งข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบ ERP ซึ่งต้องเชื่อมโยงข้อมูลสต๊อกวัตถุดิบจากสาขาทั่วประเทศไปยังซัพพลายเออร์เพื่อรับทราบการตัดสต๊อก และสามารถวางแผนการจัดส่งวัตถุดิบได้ทันแบบ Just-in-time ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการจัดเก็บวัตถุดิบคงคลัง และไม่เสี่ยงต่อการขาดตลาดของวัตถุดิบ ณ เวลาสั่งซื้อ โดยข้อมูลเรื่อง สต๊อกวัตถุดิบก็เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิต ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญๆ อาทิ ปริมาณวัตถุดิบตามสูตรทางการค้า, ข้อมูลต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งหากข้อมูลรั่วไหลก็อาจทำให้คู่แข่งลอกเลียนแบบสินค้าได้ ทั้งนี้การรับ-ส่งข้อมูลผ่านวงจรส่วนบุคคลที่มีการเข้ารหัสสัญญาณทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีบนเครือข่ายไม่สามารถเจาะเข้ามายังระบบเครือข่ายองค์กรได้ โดยระบบ ERP ยังมีอีกหลายส่วนงานที่เชื่อมโยงข้อมูลสัมพันธ์กันเช่นระบบการเงิน/บัญชี, การผลิต, ระบบ CRM, ระบบ HR ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความลับในทางธุรกิจทั้งสิ้น

สำหรับตลาดบริการวงจรสื่อสารข้อมูลสำหรับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2561 ผมคิดว่าน่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% หรือมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องทำให้มีการลงทุนเพิ่มในธุรกิจ ประกอบกับกระแสการปฏิวัติระบบไอทีองค์กร ทำให้องค์กรมีแรงกดดันจากการเปรียบเทียบการพัฒนาระบบไอทีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน และจากปัจจัยภายในเอง โดยบุคลากรในหน่วยธุรกิจปัจจุบันส่วนใหญ่เริ่มมีการรับรู้ / เรียนรู้ ในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลและมีทักษะมากขึ้น กลายมาเป็นความต้องการและผลักดันให้องค์กรนำเครื่องมือต่างๆ ด้านไอทีเข้ามาใช้ในระบบงานให้มากที่สุด ดังนั้นการวางระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลองค์กรจึงต้องมีการออกแบบระบบให้มี Core Network ที่มีความจุรองรับการใช้งานที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงปีที่ผ่านมา และเป็นเครือข่ายที่มีความปลอดภัยระดับสูงเพื่อปกป้องข้อมูลทางธุรกิจ”