ทีเส็บ โชว์ผลงาน 13 ปี ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท เปิดแผนปี’62 มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ ชูนวัตกรรม และกระจายรายได้

0
417
image_pdfimage_printPrint

ทีเส็บ โชว์ผลงาน 13 ปีในงาน Thailand MICE Forum 2018: Redefining Our Industry สร้างรายได้เข้าประเทศไทยแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ประมูลสิทธิ์งานไมซ์นานาชาติได้ถึงเฉลี่ยปีละ 20 งาน ทั้งยังให้การสนับสนุนงานไมซ์ในและต่างประเทศมากกว่า 5,000 งาน พลิกโฉมแนวทางดำเนินงานใหม่ปีหน้า 3 ด้าน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการดำเนินงาน ทีเส็บได้ประมูลสิทธิ์งานไมซ์นานาชาติกว่า 300 งาน หรือเฉลี่ยปีละ 20 งาน พร้อมให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศแล้วมากกว่า 5,000 งาน รวมสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจแล้วกว่า 1,000,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ทีเส็บยังมีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้านต่างๆ อาทิ การสร้างมาตรฐานให้กับธุรกิจไมซ์ การอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ วีซ่า การจัดทำคู่มือขั้นตอนและกระบวนการจัดงานไมซ์ และการพัฒนาไมซ์ซิตี้และ Area Base ขณะเดียวกันการจัดงานไมซ์แต่ละครั้งนั้นยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจและการลงทุน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล
“ข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 พบว่าการดำเนินงานของทีเส็บร่วมกับผู้ประกอบการไมซ์ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ หลายด้าน ได้แก่ค่าใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์มูลค่า 231,200 ล้านบาท ก่อให้เกิดเป็นรายได้ประชาชาติ เป็นมูลค่าปีละ 173,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP ประเทศ ซึ่งสัดส่วนนี้เทียบเท่ากับประเทศสิงคโปร์ ขณะเดียวกันยังมีรายได้จากมูลค่าภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้จากธุรกิจไมซ์ 21,600 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 167,300 ตำแหน่ง” ดร. อรรชกา กล่าว
จากรายงาน ของ International Congress and Convention Association หรือ ICCA และรายงานของ the Global Association of the Exhibition Industry หรือ UFI ในปีพ.ศ. 2560 พบว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียด้านการจัดประชุมนานาชาติ เป็นอันดับที่ 7 ของเอเชียในด้านการแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป็นที่หนึ่งของอาเซียนทั้งในด้านการประชุมและการแสดงสินค้า
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของทีเส็บในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จากสามไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ ทั้งสิ้นแล้วจำนวนกว่า 25,291,439 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 154,779 ล้านบาท
ประธานกรรมการ ทีเส็บ กล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีความท้าทายใหม่ ๆ ได้แก่ ความท้าทายในการรักษาจุดยืนในการเป็นอันดับ 1 ของไมซ์ในอาเซียน และผลักดันให้ไทยรั้งอันดับ 5 ด้านการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการจัดการประชุม และอันดับ 6 ด้านการแสดงสินค้าของภูมิภาคเอเชียภายในปีพ.ศ. 2564 ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมการดึงดูดให้มีการจัดงานและเพิ่มพื้นที่การขายของการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมไมซ์โลก เช่น การสร้าง “ประสบการณ์ใหม่” ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานไมซ์ การสร้างความพึงพอใจและความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนการนำประเด็นที่ได้จากชุมชนและท้องถิ่นในประเทศมาสร้างอัตลักษณ์ให้กับการจัดงานไมซ์ นอกจากนี้ ทีเส็บจะต้องเร่งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยใช้กิจกรรมไมซ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ให้มากขึ้น และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ ตลอดจนกระจายกิจกรรมไมซ์ไปยังภูมิภาคและเมืองรองเพื่อการกระจายรายได้ในประเทศ โดยต้องเร่งสร้างความกระตือรือร้น และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบขององค์กรภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมธุรกิจไมซ์
ด้วยเหตุนี้ ทีเส็บจึงกำหนด 3 แนวทางหลักเพื่อดำเนินงาน ได้แก่ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสร้างรายได้จากกิจกรรมไมซ์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นผู้อำนวยความสะดวกและจัดทำแพคเกจสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดให้แก่ภาคเอกชน ร่วมกันดึงดูดให้มีการจัดงานและสนับสนุนการจัดงานภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ดังเช่นในปี พ.ศ. 2560 ที่ได้ให้การสนับสนุนงานในอุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve ทั้งสิ้นกว่า 90 งาน อาทิ งานด้าน Robotics / Logistics /เชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน / การแพทย์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
(2) การใช้นวัตกรรมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ โครงการจัดทำแอปพลิเคชัน BIZ CONNECT ที่จะช่วยสร้างเวทีสื่อกลางการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้จัดงานและผู้ร่วมงานไมซ์ผ่านแอปพลิเคชันที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวจะรวบรวมการจัดงานทั้งหมดให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถศึกษาและตอบรับการร่วมงานพร้อมเจรจาธุรกิจได้ทันที นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ (NIA) ในการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมธุรกิจ Start-up ในอุตสาหกรรมไมซ์ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
และ (3) การกระจายรายได้และองค์ความรู้จากกิจกรรมไมซ์สู่ชุมชน ภายใต้ โครงการไมซ์เพื่อชุมชน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อพัฒนาสหกรณ์การเกษตรเป็นสถานที่รองรับการจัดงานไมซ์ โดยเบื้องต้นคัดเลือกสหกรณ์ 35 แห่ง และเตรียมขยายการดำเนินงานไปยังอีก 200 สหกรณ์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศ ทีเส็บยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนางานแสดงสินค้าของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งมีชื่อย่อว่า EMTEX (Empower Thailand Exhibition) เพื่อเป็นเวทีให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ๆ และกระจายงานแสดงสินค้าสู่ภูมิภาค
“การเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโฉมบทบาทและการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันด้วยใจบริการอย่างแท้จริงให้กับอุตสาหกรรม การสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งได้ประมาณการการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ว่า จะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 40,356,337 คน และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ประมาณ 228,627 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศประมาณ 1,419,890 คน สร้างรายได้ให้ประเทศได้ 130,200 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ นั้น คาดว่า จะมีประมาณ 38,936,447 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 98,427 ล้านบาท” ดร. อรรชกา กล่าวโดยสรุป

#####
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวปาริฉัตร เศวตเศรนี ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02 694 6000 อีเมล parichat_s@tceb.ot.rh
นางสาวปนิยดา มุลาลินน์ ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02 694 6091 อีเมล paniyada_m@tceb.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ เอ พับลิซิสท์ โทร. 0 2101 6860
คุณอาภาภรณ์ (เอ) 089 788 4868, คุณธิษตยา (แจง) 094 323 5641, คุณสรศักดิ์ (เอิร์ธ) โทร. 089 406 5544