ทีเส็บจับมือ UNWTO จัดงานประชุมไมซ์แห่งประชาคมอาเซียน ชูแผนขับเคลื่อนไมซ์ตามยุทธศาสตร์อาเซียน 10 ปี

0
346
image_pdfimage_printPrint

0310

28 กันยายน 2559 กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดงาน ASEAN Conference on MICE in collaboration with UNWTO หรือ การประชุมธุรกิจไมซ์อาเซียนโดยความร่วมมือกับองค์กรการท่องเที่ยวโลก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนโยบาย ผนึกกำลังหวังผลักดันให้อาเซียนเป็นจุดหมายเดียวกัน รองรับนักธุรกิจไมซ์จากทั่วโลก พร้อมยึดกรอบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) ขับเคลื่อนไมซ์ไทยสู่จุดหมายปลายทางคุณภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า “การส่งเสริมไมซ์ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานภายใต้ความร่วมมือกับประเทศอาเซียน และหน่วยงานหลักๆระดับโลกที่ส่งเสริมธุรกิจไมซ์ โดย ทีเส็บได้เป็นสมาชิกสมทบ (Affiliate Member) ขององค์การการท่องเที่ยวโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์การการท่องเที่ยวโลกในด้านธุรกิจไมซ์ ทั้งนี้การจัดงาน ASEAN Conference on MICE in collaboration with UNWTO หรือ การประชุมธุรกิจไมซ์อาเซียนโดยความร่วมมือกับ UNWTO นับเป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย ที่ดำเนินการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์อาเซียน และเป็นเวทีสำคัญที่สร้างการตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจไมซ์ในอาเซียนของผู้นำอาเซียนทุกประเทศ อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนทางความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการประสานงานเชิงนโยบายในการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ของอาเซียน โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากทั่วโลกให้มาจัดงานไมซ์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์แห่งอาเซียน การประชุมดังกล่าวมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์จากอาเซียนเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 270 ราย”
ด้าน นางสาววิภารัตน์ ธาราธีรภาพ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารรัฐกิจวิสาหกิจ ทีเส็บ กล่าวถึง แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) ว่า “ภายใต้แผนยุทธศาสตร์นั้น วางเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. 2568 อาเซียนจะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและการจัดงานไมซ์ที่มีคุณภาพ โดยนำเสนอความหลากหลายผ่านประสบการณ์อาเซียน อันนำไปสู่การจัดงานไมซ์อย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน มีความครอบคลุมในทุกมิติอย่างมีสมดุล นำไปสู่การกินดีอยู่ดี และความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมประชาชนอาเซียน โดยมี 2 แนวทางหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่
ด้านที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน ผ่านแนวทางต่างๆ ดังนี้ (1) ทำการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างเข้มข้น (2) มีผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดกิจกรรมไมซ์ที่หลากหลาย (3) ดึงดูดให้เกิดการลงทุนทางด้านธุรกิจไมซ์เพิ่มมากขึ้น (4) เพิ่มปริมาณและความสามารถของบุคลากรด้านไมซ์ (5) วางแผนดำเนินงานและขยายมาตรฐานในการจัดงานไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และจุดหมายปลายทางต่างๆ (6) วางแผนดำเนินงานและขยายการเชื่อมต่อตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของจุดหมายปลายทางต่างๆ และ (7) เสริมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการจัดงานไมซ์
ด้านที่ 2 สร้างความมั่นใจว่าการจัดงานไมซ์ในอาเซียนเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ (1) เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในห่วงโซ่อุปทานด้านไมซ์ (2) ปรับปรุงและพัฒนาความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และ (3) เพิ่มความรับผิดชอบต่อการปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลของสภาพภูมิอากาศ
สำหรับการขับเคลื่อนไมซ์ภายใต้ยุทธศาสตร์อาเซียนนั้น ทีเส็บสามารถไปใช้ประโยชน์จากแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ทั้งเพื่อการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางให้สอดรับการแนวทางการดำเนินงานของอาเซียน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยทำงานร่วมกับคณะทำงานไมซ์อาเซียนในหลายประเด็น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลงานสำคัญของประเทศไทย คือการที่ ที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 43 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ หรือ ASEAN MICE VENUE STANDARD กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน 10 ปี โดยมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการผลักดันการพัฒนามาตรฐานดังกล่าว ทั้งนี้มาตรฐาน ASEAN MICE VENUE STANDARD นั้น ได้รับการพัฒนามาจาก Thailand MICE VENUE STANDARD ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการดำเนินงานมาตรฐานนี้เพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับสถานที่จัดงานไมซ์ และยังมีอีกหลากหลายมิติของการขับเคลื่อนไมซ์อาเซียน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ ทั้งการส่งเสริมการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ หรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านไมซ์ที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องทำงานร่วมกัน” นายนพรัตน์กล่าวสรุป
อนึ่ง ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day) ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2559 ทีเส็บได้เรียนเชิญผู้บริหารระดับสูงขององค์การท่องเที่ยวโลก นายซู จิง (Mr. Xu Jing) ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคขององค์การท่องเที่ยวโลก ร่วมกล่าวเปิดงานประชุมดังกล่าว โดยย้ำว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการประชุม (Meeting Industry) ได้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของโลกเติบโตอย่างรวดเร็วและประสบผลสำเร็จ และยังได้ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้นด้วย อีกทั้งอุตสาหกรรมการประชุมยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอทั้งปี และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาทางองค์ความรู้
ดังนั้น การจัดการประชุมในวันนี้ จึงเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ นายซู จิง ได้กล่าวว่า ในปี 2561 คาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 119 ล้านคน และในจำนวนนี้ คาดว่าจะมีนักเดินทางไมซ์มาสู่ภูมิภาคอาเซียนประมาณ 12 ล้านคน การประชุมในวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อให้อุตสาหกรรมการประชุมในอาเซียนได้ประโยชน์จากการเติบโตของตลาดภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) มีกำหนดที่จะเผยแพร่รายงานอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ฉบับที่ 2 ในเร็ววันนี้
สำหรับงาน ASEAN Conference on MICE in collaboration with UNWTO กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2559 โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงาน อาทิ นายซู จิง ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคขององค์การท่องเที่ยวโลก และนายอิกอร์ สเตฟาโนวิค ผู้แทนองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ที่จะมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ Role of Accessibility towards Competitive Advantage in MICE นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาร่วมกันของผู้ทรงคุณวุฒิของไทยและระดับโลก หลายสาขา อาทิ ดร. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางคาเรน บอลิงเกอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานการจัดประชุมแห่งเมลเบิร์น นางเจเนท ทาน คอลลิส ประธานของสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมและแสดงสินค้าของประเทศสิงคโปร์ (SACEOS) เป็นต้น
#####

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส โทรศัพท์ 02-694-6095 อีเมล arisara_t@tceb.or.th
นางสาวกนกวรรณ กะดีแดง ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6006 อีเมล kanokwan_k@tceb.or.th
นางสาวฐิติวัลยา ไทยมงคลรัตน์ ผู้จัดการ โทรศัพท์ 02-694-6103 อีเมล titiwanlaya_t@tceb.or.th
นางสาวขวัญชนก อดทน ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02-694-6096 อีเมล kwanchanok_o@tceb.or.th
นางสาวปนิยดา มุลาลินน์ ผู้ปฏิบัติการ โทรศัพท์ 02-694-6091 อีเมล paniyada_m@tceb.or.th

เอ พับลิซิสท์ โทร. 0 2101 6860
คุณธิษตยา (แจง) 083 668 1112, คุณโกสินทร์ (ต้น) โทร. 081 566 2053, คุณสรศักดิ์ (เอิร์ธ) โทร. 089 406 5544