ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS : Thailand Center of Excellence for Life Sciences) จัดงาน Bio Investment Asia 2019 ภายใต้แนวคิด Radical Transformation of Life Sciences in Asia ในงาน Thailand LAB INTERNATIONAL 2019 เมื่อวันที่ 25-27 กันยายน 2562 ณ ห้อง EH 104 ไบเทค บางนา เพื่อนำเสนอนวัตกรรม ความก้าวหน้า และขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ กับกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้เติบโตและขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการเปิดเวทีระดมองค์ความรู้จากนักวิชาการไทยและต่างชาติผ่านการประชุมเชิงวิชาการและการสัมมนาหัวข้อต่างๆ เพื่อแสวงหาแนวทางการลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ พร้อมสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเกิดการจับคู่ทางธุรกิจต่อยอดงานวิจัยออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า งาน Bio Investment Asia 2019 ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Radical Transformation of Life Sciences in Asia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้เติบโต และขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่ตลาด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ รวมถึงเพิ่มเครือข่ายความร่วมมือและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งภายในงานได้รวบรวมผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ทั้งอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง หุ่นยนต์และเครื่องมือทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้เปิดเวทีการประชุมสัมมนาในหลากหลายหัวข้อ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ครอบคลุมตั้งแต่งานวิจัยและพัฒนาจนถึงการผลิตออกสู่ตลาด โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ Global Life Sciences Outlook แนวโน้มและทิศทางของชีววิทยาศาสตร์ โดย Mr. Joseph Damond, Executive Vice President, International Affairs, Biotechnology Innovation Organization (BIO) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ทรงอิทธิพลของวงการชีววิทยาศาสตร์ของโลก , Cancer Immunotherapy Experience in Thailand ร่วมรับฟังความก้าวหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยนักวิจัยจากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยจากประเทศไต้หวัน, Medical Cannabis Development and Pathway to Market เจาะลึกเส้นทางการนำกัญชามาใช้เพื่อการรักษาโรค โอกาสและแนวทางต่อยอดการพัฒนาออกสู่ตลาด, Becoming New API Producer from Pharmaceutical Resources พบกับความหลากหลายของสารตั้งต้นในการผลิตยาของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตสารตั้งต้นชนิดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Artificial Intelligence and Big Data in Medical Imaging การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเพื่อค้นหาแนวทางการดูแล ป้องกัน และรักษาสุขภาพ Regulatory Updates on ATMPs (Advanced Therapy Medicinal Products) การนำเสนอ กฏระเบียบ ข้อกฎหมาย เงื่อนไข การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ชั้นสูงในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมในการรักษาใหม่ๆ โดยองค์การอาหารและยาของไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น
การจัดงานในครั้งนี้ ยังได้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งของไทยและต่างประเทศในการผลักดันงานวิจัยสู่การผลิต การบริการในตลาดเชิงพาณิชย์ อาทิ การร่วมทุน Joint Venture ระหว่าง บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (BGIC) ผู้พัฒนาค้นคว้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทย และ Genexine บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ ที่จะร่วมกันพัฒนาและขยายธุรกิจด้าน Bio Technology ออกสู่ตลาด การลงนามความร่วมมือระหว่าง TCELS กับ Pfizer ประเทศไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยการแบ่งปันข้อมูล ผลงานวิจัย บุคลากร รวมถึงการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า การทำงานร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับ Antimicrobial Resistance (AMR) หรือ การดื้อยาของเชื้อโรค การลงนามความร่วมมือระหว่าง TCELS กับ บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ และยังรวมถึงการจัดให้มีการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ และการนำเสนอแหล่งเงินทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อการค้นคว้าและนำผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ อีกด้วย
“ทีเซลส์ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการจัดงาน Bio Investment Asia 2019: Radical Transformation of Life Sciences in Asia ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความพร้อมและขีดความสามารถด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทยในเวทีระดับนานาชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดผลในเชิงเศรษฐกิจต่อไป” ดร.นเรศ กล่าว