1

ทียูเอฟ บริษัทไทยแห่งแรกที่เข้าร่วม Blue Ribbon Panel จัดทำกลยุทธ์ระดับโลกเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาท้องทะเล ควบคู่กับคุณภาพชีวิตของมนุษย์

กรุงเทพฯ 22 ตุลาคม 2556, บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารทะเลแช่แข็งชั้นนำระดับโลก พร้อมพนักงาน 32,000 คนจากบริษัทในเครือของ      ทียูเอฟในประเทศต่างๆทั่วโลก ได้ร่วมฉลองความภาคภูมิในวาระที่องค์กรร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของบลู  ริบบอน พาเนล หรือ บีอาร์พี (Blue Ribbon Panel) เพื่อร่วมวางกลยุทธ์ระดับโลกในการที่จะอนุรักษ์ ปกป้องและพัฒนาท้องทะเลไปพร้อมๆกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ โดยนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร ทียูเอฟถือเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะ ผู้ทำงานด้านกลยุทธ์ของบีอาร์พี โดยคณะทำงานทั้งหมดประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้นำจากองค์กร และองค์การต่างๆ จำนวน 21 ท่าน จาก 16 ประเทศทั่วโลก ที่เห็นร่วมกันว่าผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และระบบนิเวศน์อาจรุนแรงเกินเยียวยา หากไม่เริ่มลงมือปกป้องและฟื้นฟูคุณภาพของท้องทะเลตั้งแต่วันนี้

รูปคุณธีรพงศ์@2

บีอาร์พี เป็นคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นจากการสนับสนุนผลักดันโดยธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เพื่อให้เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับโกลบอล พาร์ทเนอร์ชิพ ฟอร์ โอเชี่ยน หรือจีพีโอ  (Global Partnership for Ocean)  โดยมีบริษัทผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกเพียง 3 บริษัทเป็นสมาชิกร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์การไม่แสวงหาผลกำไร นักวิชาการ และสถาบันที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั่วโลก

 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทียูเอฟมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ปกป้องท้องทะเลเพื่อรักษาทรัพยากรโลกอันสำคัญนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมประมงได้มีการริเริ่มโครงการดีๆ หลายโครงการ แต่ยังมีเพียงไม่กี่โครงการที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างระดับโลกได้”

 

“จากการที่ผมได้ร่วมงานกับสมาชิกท่านอื่นๆ จากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ผมเห็นว่าการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริง และผมเชื่อว่าจีพีโอจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายในการอนุรักษ์ รักษาท้องทะเลอย่างยั่งยืนได้” นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

ตามรายงานของบีอาร์พีที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  วิธีการแก้ปัญหาที่ท้องทะเลกำลังประสบอยู่จากแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์ จะไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายในการอนุรักษ์และดูแลท้องทะเลที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นได้ รายงานดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาในองค์รวมโดยเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.globalpartnershipforoceans.org/indispensable-ocean

 

มร. โอฟ โฮก กูลเบิร์ก ประธาน บีอาร์พี และที่ปรึกษาคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า “ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้เราตระหนักว่า แหล่งอาหารจากท้องทะเลเพื่อเป็นอาหารของคนนับพันล้านบนโลก กับการดูแลอนุรักษ์ รักษาท้องทะเลและชายหาดนั้น จำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปควบคู่กัน”

 

“การอนุรักษ์ รักษาคุณภาพของท้องทะเลนั้น เป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ภาครัฐ และภาควิชาการ แม้ว่าแต่ละภาคส่วนจะมีมุมมองที่ต่างกันไปบ้าง แต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันกับความจริงที่ว่าเราจะเมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้”

 

จากรายงานของบีอาร์พีชี้ให้เห็นการที่คณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่า ความท้าทายในการอนุรักษ์ รักษาคุณภาพของท้องทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ต้องหาแนวทางแก้ไขและดูแลในระยะยาว ดังนั้นคณะทำงานจึงนำเสนอหลักการ 5 ประการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณาโครงการเพื่อรับการสนับสนุนเงินทุนโดยจีพีโอ ประกอบด้วย 1.) คุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน ความเท่าเทียมทางสังคม และความมั่นคงด้านอาหาร          2.) คุณภาพสิ่งแวดล้อมของทรัพยากรทางทะเล  3.) การกำกับดูแลเชิงนโยบายจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 4.) ความต่อเนื่องของโครงการและผลลัพธ์ที่ยั่งยืน และ 5.) การสร้างศักยภาพและนวัตกรรมเพื่อการต่อยอดและขยายผลในอนาคต คณะทำงานได้เสนอว่าหลักการทั้ง 5 ประการนี้ควรถูกพิจารณาสำหรับโครงการในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการประมง การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และการลดมลภาวะต่างๆ

 

“ในฐานะตัวแทนของทียูเอฟและพนักงานทุกคนทั่วโลก ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจระดับโลกอย่างบีอาร์พีนี้ และอุทิศตนเพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของทรัพยากรทางทะเลและอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และคืนสิ่งดีๆ กลับสู่ท้องทะเล แม้ว่าเราอาจยังไม่พร้อมเต็มที่ (หรือ แม้ว่าความพร้อมของเราจะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม)”นายธีรพงศ์ จันศิริ กล่าวปิดท้าย