ทีมไทยคว้าชัย 6 รางวัล การแข่งขันสร้างสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเซีย 2015

0
445
image_pdfimage_printPrint

1.-Small

ประเทศไทยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ “การแข่งขันสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเชีย” (The Asian Bridge Competition: ASIA BRICOM 2015) เมื่อเร็วๆนี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผลแข่งขันทีมมหาวิทยาลัยจากประเทศไทยสร้างชื่อเสียงกวาดรางวัลแชมป์เอเชียและรางวัลอื่นๆรวม 6 ประเภท
สะพานในยุคแรก จะสร้างด้วยท่อนไม้ หรือหิน มีโครงสร้างแบบเรียบง่าย โดยใช้โครงสร้างช่องโค้ง พบเห็นได้ในยุคโรมัน สำหรับสะพานที่ใช้สำหรับเป็นทางส่งน้ำ และเริ่มใช้ซีเมนต์จากส่วนประกอบของหินในธรรมชาติ สะพานอิฐ เริ่มมีการสร้างในยุคต่อมา สะพานเชือก เป็นสะพานที่ขึงทั้งสองข้างของหน้าผาด้วยเชือก และขั้นที่เหยียบอาจจะเป็นแผ่นไม้หรือว่าเชือก เริ่มใช้โดยจักรวรรดิอินคา ในบริเวณเทือกเขาแอนดีส (Andes) ใน ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนยุคการล่าอาณานิคมของชาวยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ส่วนในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมนิยมนำเหล็กมาทำเป็นสะพาน โดยเชื่อมต่อในระบบโครงสร้างทรัสสำหรับสะพานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา สะพานในยุคปัจจุบัน มีหลายประเภท เช่น สะพานแขวน (Suspension bridge), สะพานขึง (Cable-stayed bridge), สะพานแบบคาน (Beam bridge), สะพานแบบโครง (Truss bridge), สะพานยื่น (Cantilever bridge), สะพานแบบโค้ง (Arch bridge), สะพานโค้งคอนกรีตเสริมเหล็ก (Tied arch bridge) เป็นต้น
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “การสร้างสะพานนับเป็นเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมโยธาที่สำคัญของมนุษยชาติและมีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2,000 ปี มาจนถึงปัจจุบัน สะพานมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนเมือง วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจโดยเชื่อมต่อการคมนาคมและการสัญจรข้ามแม่น้ำหรือทางแยก เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประวัติความเป็นมาของการแข่งขันสร้างสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเชีย (The Asian Bridge Competition: ASIA BRICOM) ริเริ่มจัดเป็นครั้งแรกในโตเกียวเมื่อปี 2549 โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิทยาการที่ก้าวไกลของญี่ปุ่น ต่อมาได้พัฒนาเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติโดยเชิญมหาวิทยาลัยทั่วเอเซียที่เปิดสอนปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธา การแข่งขันสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเซียในปี 2558 นี้คณะวิศวลาดกระบังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดในนามประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการจัดแข่งขัน เพื่อส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเอเซียได้นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธา ไปประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ โดยมีโจทย์ตามข้อกำหนดต่างๆ ในสภาวะการก่อสร้าง เสริมศักยภาพในการคิดวิเคราะห์เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในการทำงานจริงผ่านการจำลองทางการแข่งขัน ทั้งในด้านการออกแบบโครงสร้าง การประกอบและติดตั้ง ความสวยงามที่มีหลักคิดและผสมผสานกับสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และมีความเข้าใจต่อผู้อื่นและเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกัน สร้างเสริมประสบการณ์ทางวิชาการในระดับนานาชาติ และเป็นการสร้างเครือข่ายความรู้ด้านวิชาการ และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ อีกทั้งเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในภูมิภาคเอเซียต่อไป ”
ผศ.ดร. นันวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช ประธานสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “โจทย์การแข่งขันสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเชีย เรามุ่งสร้างเสริมให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่เข้าใจโครงสร้างสะพานที่ทำด้วยเหล็ก หรือที่เรียกว่า ทรัสส์ (Truss) ได้แก้โจทย์เพื่อออกแบบและการวางแผนงานจากข้อจำกัด คือ ต้องออกแบบโครงสร้างสะพานที่แข็งแรง มีน้ำหนักเบา ปลอดภัย และสามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุด ตามกติกา มีความสวยงาม และใช้เวลาประกอบติดตั้งน้อยที่สุด กติกาการแข่งขันสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเซีย มี 6 ข้อ คือ 1.สะพานทั้งหมดต้องมีความยาว 4.00 – 4.40 เมตร กว้าง 0.60 เมตร ไม่จำกัดความสูง 2.ในการแข่งขันประกอบสะพาน แต่ละชิ้นส่วนของสะพานต้องมีขนาดที่สามารถเข้ากล่องสี่เหลี่ยม ขนาด 15 x 15 x 80 เซนติเมตรได้ 3.การใส่น้ำหนักบรรทุกที่สะพาน จะใส่น้ำหนักที่กึ่งกลางสะพาน และระยะครึ่งหนึ่งของกึ่งกลางสะพาน โดยน้ำหนักบรรทุกหนักตำแหน่งละ 150 กิโลกรัม และเมื่อวางน้ำหนักแล้ว สะพานต้องมีการแอ่นตัว 6 มิลลิเมตร ถ้าเกิดการแอ่นตัวมากกว่า 15 มิลลิเมตร จะถือว่าสะพานนั้นพัง 4.ขณะประกอบสะพาน ผู้แข่งขันต้องสวมถุงมือ แว่นตา และหมวกนิรภัย เพื่อจำลองสถานการณ์เหมือนการก่อสร้างจริง 5.สนามแข่งขันมีการจำลองให้ใกล้เคียงสถานการณ์ก่อสร้างจริง คือมีการประกอบสะพานข้ามแม่น้ำ ส่วนของสนามที่กำหนดว่าเป็นแม่น้ำ ผู้เข้าแข่งขันจะไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการประกอบสะพาน 6.เมื่อประกอบสะพานเสร็จแล้ว สะพานจะต้องสามารถให้พาหนะจำลอง ขนาด 50 x 30 เซนติเมตร ลอดข้ามไปได้ ในส่วนขั้นตอนการแข่งขันสร้างสะพานเหล็กจำลอง 2 วัน แบ่งออกเป็น วันแรก ช่วงเช้ามีการแข่งขันในส่วนของการนำเสนอแนวคิดของสะพานแก่คณะกรรมการ, ช่วงบ่าย ให้เวลาแต่ละทีมในการซ้อมประกอบสะพาน, วันที่สอง ช่วงเช้ามีการแข่งขันในส่วนของการประกอบสะพาน, และช่วงบ่ายเป็นการทดสอบการบรรทุกน้ำหนักของสะพาน
สำหรับ เกณฑ์การตัดสินในการให้คะแนนจะประกอบด้วย 7 ส่วน ได้แก่ Structural Cost (สะพานต้องมีน้ำหนักเบาและมีค่าการโก่งตัวเป็นไปตามกติกา), Construction Cost (ประกอบสะพานได้เร็ว), Total Cost (คะแนนรวมจากประเภท Construction Cost และStructural Cost), Prediction of Deflection (การทำนายการแอ่นตัวได้แม่นยำ), Aesthetics (สะพานสวยงาม), Presentation (การนำเสนอแนวคิดงาน) และประเภท Overall Performance (คะแนนรวมสูงสุด)”
ผลการแข่งขันสะพานเหล็กจำลองแห่งเอเชีย (The Asian Bridge Competition: ASIA BRICOM 2015) ณ คณะวิศวลาดกระบัง เป็นที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คว้าแชมป์โอเวอร์ออลเอเซีย และอีก 6 ทีมมหาวิทยาลัยจากประเทศไทย สร้างเกียรติประวัติกวาดรางวัลอีก 5 ประเภท ผลการแข่งขัน ดังนี้ ประเภทที่ 1 Overall Performance ที่1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประเทศไทย, ที่2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ประเทศไทย, และ ที่3) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), ประเทศไทย
ประเภทที่ 2 รางวัล Prediction of Deflection ที่1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประเทศไทย , ที่2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ประเทศไทย และที่3) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประเทศไทย
ประเภทที่ 3 รางวัล Light Weight ที่1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประเทศไทย, ที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, และที่3) มหาวิทยาลัยจิฟู ประเทศญี่ปุ่น
ประเภทที่ 4 รางวัล Structure Cost ที่1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประเทศไทย , ที่ 2มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ประเทศไทย, และที่3) สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ประเภทที่ 5 รางวัล Total Cost ที่1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประเทศไทย, ที่2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล ประเทศไทย, ที่3) สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ประเภทที่ 6 รางวัล Aesthetics ที่1) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), ประเทศไทย, ที่ 2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ ประเทศไทย, ที่3) มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงหยางประเทศจีน
ประเภทที่ 7 รางวัล Presentation ที่1) มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงหยาง ประเทศจีน, ที่2) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประเทศไทย, ที่3) สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
—————————————–
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. : 081-899-3599, 086-341-6567 E-mail: brainasiapr@hotmail.com