ทีมแพทย์จากหน่วยแพทย์พระราชทานฯ เผยว่าชาวป่าชาวเขาเป็นโรคผิวหนัง และน่าเป็นห่วงเรื่องไม่มีส้วม ซึ่งนำไปสู่โรคระบาดร้ายแรง

0
533
image_pdfimage_printPrint

ทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)         ลงพื้นที่ในการออกหน่วยแพทย์พระราชทานในโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี        ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านโป่งลึก ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 26 – 29 พฤษภาคม 2556  พบว่า ประชาชนในพื้นที่เป็นชาวป่าชาวเขาซึ่งเสมือนมีชีวิตความเป็นอยู่โดยตัดขาดจากสังคม  ดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเองโดยการทำไร่ ทำสวน ใช้ไฟฟ้าจากระบบโซลาเซล ใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เด็กขาดสารอาหาร และพบว่าส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคผิวหนัง  โรคทางระบบทางเดินหายใจ  โรคเหา  และไม่มีระบบสุขอนามัยที่ดี ขับถ่ายตามธรรมชาติ ไม่มีส้วม  ส่งผลให้เกิดโรคระบาดบ่อยครั้ง

นายชัชวาล  พรธาดาวิทย์  รองผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ กล่าวว่า หลังจากได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ได้เข้าถึงด้านการแพทย์ในโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ซึ่งในพื้นที่ตะเข็บชายแดนของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้ ได้ให้บริการตรวจสุขภาพแก่เด็กและประชาชนรวมทั้งทั้งสองพื้นที่ประมาณ 500 คน  พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นอยู่แบบชาวป่าชาวเขาเนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกลความเจริญ  การเดินทางยากลำบาก  และไม่มีพาหนะในการใช้สัญจรไปมา อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าไม่ถึง  ระบบการศึกษาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตำรวจตระเวนชายแดน  มีโรงเรียนในระดับประถมศึกษาเท่านั้น  ดังนั้นนอกจากปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตแล้วกลุ่มประชาชนเหล่านี้จึงไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล หากมีการเจ็บป่วยก็จะได้รับการรักษาเบื้องต้นจากอนามัยหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ดังนั้นการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ในครั้งนี้จึงได้นำแพทย์ ทันตแพทย์ และเจ้าที่เข้าไปเพื่อตรวจรักษา และให้ความรู้ด้านสุขอนามัยเพื่อให้เด็กและประชาชนได้รู้จักดูแลรักษาสุขภาพด้วยตัวเอง แต่ก็พบปัญหาทางด้านการสื่อสารเนื่องจากชาวเขากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้ภาษากะเหรี่ยง จึงต้องอาศัยล่ามในการสื่อสารจึงค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้าใจ

นพ.ชัชพล  วทัญญูทวีวัฒน์ (นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต) , พญ.อัญญา  เวียรศิลป์ (นิสิตแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , และ พญ.นภมณฑ์  ศุภรพันธ์  (นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ซึ่งแพทย์ทั้งสามท่านเป็นแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2 ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ  ได้ร่วมลงพื้นที่ในการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ กล่าวว่า จากการตรวจวินิจฉัยสุขภาพของเด็กและประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ  โรคผิวหนัง  และสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบาดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากมีส้วมไม่เพียงพอและประชาชนไม่เห็นความสำคัญว่าต้องใช้ส้วมในการขับถ่าย นอกจากนั้นยังพบปัญหาว่าประชาชนไม่มีการคุมกำเนิด และมีการสืบพันธุ์แบบเลือดชิด     ทำให้ทารกที่เกิดมาร้อยละ 20 เป็นออร์ทิสติก และร้อยละ 10 เป็นเด็กปัญญาอ่อน  ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรด้อยลงเรื่อยๆ

นายปรัตกร  จิพิมาย  นักวิชาการโภชนา กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลด้านโภชนาการของกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุแรกเกิดจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนหมู่บ้านละ 25 คน  พบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็ก  เนื่องจากขาดการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ นม ผักใบเขียว และธัญพืช ซึ่งภาวะขาดธาตุเหล็กนี้จะนำไปสู่การเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายสร้างเฮโมโกลบินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีความต้านทานโรคต่ำ เปลือกตาขาวซีด ลิ้นอักเสบ เล็บบางเปราะ ซึ่งการจะส่งเสริมให้เด็กและประชาชนได้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มชาวป่าชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลนี้  เนื่องจากพวกเขาไม่มีอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้  ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืชผัก จับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ  และสัตว์ป่าที่พอจะหาได้ นำมาทำอาหารบริโภค บางครัวเรือนมีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ก็ยังพอมีไข่และเนื้อสัตว์บริโภค  แต่ส่วนใหญ่อาหารประจำที่รับประทานทุกวันคือข้าว ผัก และเนื้อปลา

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการออกหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ในครั้งนี้ ทำให้ทุกๆ คนในทีมได้สำนึกในมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ที่ได้มีโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนชาวไทยในทุกพื้นที่  โดยเฉพาะพื้นที่อันห่างไกลซึ่งยังมีประชาชนที่มีวิถีชีวิตแบบชาวป่าชาวเขาอีกมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข  ด้านไฟฟ้า  และน้ำดื่มน้ำใช้  รวมถึงการส่งเสริมอาชีพการทำมาหากิน