ทายาท“โอเอ”เปิดใจขอมีที่ยืนบนธุรกิจวอนสังคมเข้าใจไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ
ทายาท“โอเอ”เปิดใจขอมีที่ยืนบนธุรกิจวอนสังคมเข้าใจไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ
ย้อนรอยเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างเข้มข้น เพราะถือเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว จนนำไปสู่การแจ้งข้อหาอั้งยี่และข้อหาฟอกเงินต่อจำเลยทั้ง 13 รายและจบลงที่ศาลยกฟ้องแบบไร้มลทิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ครอบครัว “โรจน์รุ่งรังสี” ถูกดำเนินคดี 4 ชีวิตพ่อแม่และลูกอีก 2 คนต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน จนได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี ยังไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใดมาก่อน
ครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกที่นางสาวสายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี หนึ่งในทายาทธุรกิจในเครือโอเอทรานสปอร์ต ผู้ร่วมชะตากรรมพร้อมบิดามารดาและน้องชายคนเล็กได้ออกมาเปิดใจพร้อมทั้งกล่าวว่า ถึงแม้ศาลยกฟ้องครอบครัวโรจน์รุ่งรังสีแล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลใจอยู่บ้างโดยเฉพาะ กระแสข่าวที่ออกไปในด้านที่กระทบกับ เจ้าหน้าที่รัฐ ครอบครัวเราขอยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวเหล่านั้นไม่ได้มีที่มาจากบุคคลใดใน ครอบครัวเลย เกรงว่าจะมีการเข้าใจผิด
สายทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ครอบครัวเรายินดีและเข้าใจดีว่า ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริษัทโอเอ และกลุ่มบริษัทฯอื่นๆอีก 5 กลุ่มที่ประกอบธุรกิจเหมือนกับเรา คือให้บริการรถเช่า และห้างร้านค้าขายสินค้าจากผู้ผลิตไทย ต่างดีใจที่รัฐบาลใส่ใจ นั่นเป็นเพราะรัฐบาล คสช.สร้างความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นกับประเทศ
แม้ว่าเราได้รับผลกระทบแต่ครอบครัวเราไม่เคยคิดที่จะหลบหนี เราให้ความร่วมมือเสมอมา รวมถึงแสดงความบริสุทธิ์ใจตั้งแต่เริ่มต้น โดยการเข้าไปแสดงตัวและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเองตั้งแต่ได้รับหมายเรียกซึ่งพวกเราพร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธ์
“ แม้ว่าดิฉันและครอบครัวจะปราศจากอิสระภาพต้องควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือน ชีวิตของครอบครัวและธุรกิจที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมาด้วยหยาดเหงื่อและสองมือเป็นเวลากว่า 40 ปีต้องประสบภาวะวิกฤต แต่พวกเรายังมีความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมและภาครัฐ”สายทิพย์กล่าว
วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ธุรกิจของครอบครัวตรงตามที่ศาลวินิจฉัยว่า “เราไม่ใช่บริษัททัวร์ หรือขายทัวร์นำนักท่องเที่ยวเข้ามา เราแค่เป็นผู้ให้บริการเช่ารถทัวร์ เรามีร้านค้าขายสินค้าขายของที่ระลึก เหมือนร้านค้าทั่วๆไปตามแหล่งท่องเที่ยว ถ้าเปรียบธุรกิจของเราก็เหมือน ธนาคาร สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร คือธุรกิจให้บริการ เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า บริษัททัวร์ไหนคือทัวร์ศูนย์เหรียญ”
ถึงตรงนี้ครอบครัวเรามีโอกาสชี้แจงให้สังคมเข้าใจความจริงเกี่ยวกับธุรกิจนี้มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อครอบครัวดิฉัน แต่สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโดยรวมและบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจเหมือนกันอีก 4 บริษัทฯที่ไม่ถูกโชคชะตาเล่นงานเหมือนกับเรา ซึ่งเราก็ไม่ต้องการให้ใครต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์แบบเดียวกัน และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับนักท่องเที่ยวอีกต่อไป
“สุดท้ายครอบครัวดิฉันอยากขอวิงวอนผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขอแค่ได้มีที่ยืนบนธุรกิจที่เราสร้างมาต่อไปและเราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกอย่าง ขอเป็นหนึ่งในฟั่นเฟือนช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เจริญก้าวหน้าสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป” สายทิพย์กล่าวในที่สุด
สำหรับคำพิพากษาที่ทำให้ครอบครัว โรจน์รุ่งรังสี พ้นมลทิน ขอคัดคำพิพากษาบางช่วงบางตอนเพื่อความกระจ่างชัดถึงมูลเหตุแห่งคดีหมายเลขดำที่ ฟย.46/2559
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง นายสมเกียรติ คงเจริญ จำเลยที่ 1 นางธวัล แจ่มโชคชัย จำเลยที่ 2 บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยที่ 3 นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยที่ 4 บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด จำเลยที่ 5 บริษัท ไทย เฮิร์บ จำกัด จำเลยที่ 6 บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์จำกัด จำเลยที่ 7 บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด จำเลยที่ 8
นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 9 และในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 5 ถึงจำเลยที่ 8 นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 10 ในฐานะเคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 5 ถึงจำเลยที่ 8 อยู่ด้วย บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด จำเลยที่ 11 ซึ่งมีนางสาวสายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 12 เป็นกรรมการผู้จัดการ นายวินิจ จันทรมณี จำเลยที่ 13 ในข้อหาอั้งยี่ ความผิดต่อพระราชบัญญัตินำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายหลายหมื่นล้าน
หลังจากศาลตรวจพยานหลักฐานแล้ว กลุ่มผู้กล่าวหาซึ่งประกอบด้วย พ.ต.ท.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เป็นผู้กล่าวหาหลัก กลุ่มข้าราชการและนักวิชาการด้านการท่องเที่ยว มีนายสุธรรม เดชดี รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวในขณะนั้น กับนางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยว นายอธิพงษ์ แสงศิลป์ นักพัฒนาการการท่องเที่ยวชำนาญการกรมการท่องเที่ยว เป็นพยานปากหลัก
นายสุธรรมกับนางศรีสุดา และนายอธิพงษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่างเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสนำเที่ยวและจำหน่ายสินค้า ยา อาหารรวมทั้งสินค้าอื่นๆให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มิใช่เป็นการประกอบธุรกิจนำเที่ยว จึงไม่ต้องจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่อกรมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
หากเป็นร้านค้าหรือสถานบริการสำหรับนักท่องเที่ยวก็อาจมีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนหรือคอมมิชชั่น หรือที่เรียกกันในวงการทัวร์ว่าค่าน้ำหรือค่าจอดรถ ทั้งนี้เป็นการแข่งขันกันตามปกติของผู้ประกอบการนำเที่ยวในประเทศไทย
ซึ่งเจ้าพนักงานของกรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบและยืนยันว่า ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวคนใดว่า มีการบังคับและขู่เข็ญให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ และถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด
พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงใดหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวดังกล่าวนั้นเลย แต่กลับกลายมีการแจ้งข้อกล่าวหาฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่อันเป็นความผิดมูลฐานและนำไปสู่การแจ้งข้อความข้อกล่าวหาความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน
ศาลเห็นว่าหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องการกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติได้รับผลกระทบและเสียหายเป็นอย่างมาก
แต่หากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมากลับไม่มีพยานหลักฐานใดที่โจทก์นำมาสืบแล้วทำให้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง
ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง