ศาสตราจารย์ ทาดามิตสึ คิชิโมโตะ จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เข้ารับพระราชทานรางวัล King Faisal International Prize ประจำปี 2560 สาขาแพทยศาสตร์ จากสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอูด แห่งซาอุดิอาระเบีย ในพิธีสุดยิ่งใหญ่ที่มีบุคคลผู้ทรงเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานมากมาย ทั้งเจ้าชาย รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้นำทางความคิด นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/486601/Tadamitsu_Kishimoto.jpg )
(รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/486424/King_Faisal_International_Prize_Infographic.jpg )
คิชิโมโตะ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำศูนย์วิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า และเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจากบทบาทอันโดดเด่นในการพัฒนาชีวบำบัดรูปแบบใหม่เพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease)
เนื่องในโอกาสนี้ ศ. คิชิโมโตะ กล่าวว่า “King Faisal International Prize เป็นรางวัลที่ควรค่าแก่การยกย่อง เนื่องจากช่วยผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องขององค์ความรู้และการวิจัยทั่วโลก ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของภูมิคุ้มกันวิทยามากขึ้น รางวัลนี้จะช่วยผลักดันโครงการวิจัยต่างๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากขึ้น”
ศ. คิชิโมโตะ เป็นนักวิทยาภูมิคุ้มกันแถวหน้าของโลก ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานมานานกว่า 30 ปี เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบอินเตอร์ลิวคิน-6 (IL-6) รวมถึงรีเซพเตอร์ และระบบการส่งและรับรู้สัญญาณ (signaling pathway) โดยเขาได้พิสูจน์กลไกการทำงานทางสรีรวิทยาของวิถีอินเตอร์ลิวคิน-6 รวมถึงอิทธิพลที่มีต่ออาการอักเสบและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ต่อมาเขาได้พัฒนาแอนติบอดีสกัดกั้นรีเซพเตอร์อินเตอร์ลิวคิน-6 สู่การรักษาเชิงชีวบำบัด อันนำไปสู่การพัฒนาทางคลินิกเพื่อคิดค้นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
นอกจากนี้ ศ. คิชิโมโตะ ยังเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรมจากสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นเมื่อปี 2541 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชอาณาจักรไทยเมื่อปี 2555 ทั้งยังได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆ อีกมากมาย
รางวัล King Faisal International Prize ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิ King Faisal Foundation และมีการมอบรางวัลเป็นครั้งแรกในปี 2522 เพื่อให้การยกย่องผลงานอันโดดเด่นของบุคคลและสถาบันในหลากหลายสาขา นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล King Faisal International Prize มักได้รับรางวัลทรงเกียรติอื่นๆ ในหลายปีถัดมา ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับรางวัล King Faisal International Prize 18 ราย ได้รับรางวัล Nobel Prize ในภายหลัง ขณะที่ 13 รายได้รับรางวัล Gairdner Foundation International Award ส่วน 11 รายได้รับรางวัล American National Medals of Science และ 9 รายได้รับรางวัล Lasker Medical Award ตลอดจนรางวัลอันทรงเกียรติอีกมากมาย
ติดต่อ: Noura Sankour โทร. +971(0)568797444 อีเมล: nora@hadathgroup.com
ที่มา: King Faisal International Prize