ทันตแพทย์หน่วยแพทย์พระราชทานฯ ภูมิใจที่ทำงานเพื่อชาติ ทันตสุขภาพเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล
ทีมทันตกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ร่วมออกหน่วยแพทย์พระราชทาน ในโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้บริการตรวจรักษาสุขภาพเด็กและประชาชนในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านสวนเพชร และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสิริราษฎร์ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2556
ทันตแพทย์วินัย นันทสันติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกายภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า การออกให้บริการด้านสาธารณสุขของหน่วยแพทย์พระราชทานในพื้นที่ห่างไกลเพื่อดูแลสุขภาพอนามัยของเยาวชนและประชาชน จะให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ แนะนำสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค วางแผนครอบครัว ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ และให้บริการตรวจโรคทางด้านทันตกรรม ซึ่งในส่วนของการให้บริการ ทันตกรรมของหน่วยแพทย์พระราชทาน ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ จะเน้นการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูน ถอนฟัน โดยการปฏิบัติงานของกลุ่มทันตกรรมในการลงพื้นที่นี้ สิ่งที่ต้องใส่ใจดูแลไม่น้อยไปกว่าผู้มารับบริการก็คืออุปกรณ์ เครื่องมือทางด้านทันตกรรมประเภทต่างๆ เพราะในการลงพื้นที่ทุกครั้งมักจะไปให้บริการในพื้นที่ทุรัดกันดาร หรือไปบนเทือกเขาที่มีเส้นทางการสัญจรค่อนข้างลำบาก ต้องใช้พาหนะเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ดังนั้นการเตรียมอุปกรณ์ด้านทันตกรรมจะต้องจัดเก็บใส่กล่องบรรจุที่แข็งแรง มีวัสดุกันกระแทกเพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์และความปลอดภัยของผู้ร่วมเดินทาง
การปฏิบัติงานในหน่วยแพทย์พระราชทานมีหัวใจอยู่ที่การมุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและนำบริการด้านสาธารณสุขไปให้ถึงยังพื้นที่ห่างไกล อาทิ พื้นที่แถบชายแดน พื้นที่บนเขาสูง แต่จากประสบการณ์การลงพื้นที่ออกหน่วยแพทย์พระราชทาน พบว่าสุขภาพปากและฟันของเด็กและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ดีกว่าเด็กและประชาชนในเมืองหลวงและพื้นที่ที่ความเจริญเข้าถึง อาจเป็นเพราะเรื่องความแตกต่างของอาหารการกิน และวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงในปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุขอนามัยท้องถิ่นได้ลงไปให้บริการด้านทันตสุขภาพกับเด็กและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับการลงพื้นที่ของหน่วยแพทย์พระราชทานปีละหนึ่งหรือสองครั้ง จึงเป็นเพียงการให้บริการเสริมจากที่หน่วยงานสาธารณสุขอนามัยท้องถิ่นได้ทำไว้ สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในหน่วยแพทย์พระราชทานทำให้ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ได้เห็น ได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายพอเพียงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้มองย้อนกลับมาดูการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างพวกเราว่าไม่ควรใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ เพราะไม่ว่าจะมั่งมีเพียงใด สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการมีสุขภาพที่ดี ในช่วงเวลาที่ออกหน่วยก็ได้รู้จักสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งหากไม่ได้มาอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงแบบนี้ก็คงจะหาโอกาสในการนั่งคุยกันยาวๆ แบบนี้ได้ยาก จึงถือได้ว่ากิจกรรมของการออกหน่วยแพทย์พระราชทานนี้คุ้มค่าในส่วนของการสร้างจิตสำนึก การสร้างประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ ช่วยส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานในองค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ที่ได้ไปประสานงานด้วย
สำหรับการออกหน่วยแพทย์เพื่อตรวจ รักษาผู้ป่วยด้านทันตกรรมในพื้นที่ภายนอกโรงพยาบาลก็มักจะมีข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เนื่องด้วยผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงการเกิดโรคในช่องปากได้ง่าย ซึ่งเกิดจากปากแห้งโดยเฉพาะผู้ที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีจะมีน้ำลายลดลงทำให้ปากแห้ง จึงทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เกิดแผลในปาก การติดเชื้อ และฟันผุ อาจจะแก้ไขโดยการดื่มน้ำมากขึ้น หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล หรือลูกอมที่ไม่มีน้ำตาล นอกจากนั้นผู้ป่วยเบาหวานยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปากซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และโรคที่พบบ่อยก็คือโรคเหงือกอักเสบ เนื่องจากเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะน้อยลง และนำของเสียไปกำจัดน้อยลงร่วมกับการทำงานของเม็ดเลือดขาวน้อยลง ทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกง่ายได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งช่วยให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดี เมื่อแปรงฟันอาจจะทำให้เกิดเหงือกอักเสบ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรจะได้รับการตรวจช่องปากทุกสัปดาห์เพื่อหาความผิดปกติ และควรพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเลือดออกจากเหงือกหรือฟันเวลาแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน เหงือกบวมแดงและเจ็บ เหงือกแยกจากฟันหรือเหงือกร่น มีหนองออกจากเหงือกหรือฟัน ฟันสบกันไม่ดีเวลาเคี้ยว มีกลิ่นปากตลอดเวลา
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจในการรับการรักษาทางทันตกรรม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคของลิ้นหัวใจ โรคหัวใจโต ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อควรระวังแตกต่างกันตามภาวะของโรคและยาที่ใช้ในการรักษา เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อการให้รักษาทางทันตกรรม โดยผู้ป่วยโรคหัวใจบางรายมีความจำเป็นต้องงดยาหรือต้องกินยาเพิ่มบางชนิดตามแพทย์สั่งก่อนมารับรักษาทางทันตกรรม ดังนั้นผู้ป่วยที่มีประวัติและอาการของโรคหัวใจควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับชนิดและขนาดของยาที่กินรวมทั้งโรคประจำตัว เพื่อจะได้บันทึกข้อมูลสุขภาพ และปรึกษาเรื่องการรักษากับอายุรแพทย์ เพื่อเป็นข้อควรระวัง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคหัวใจจากแพทย์ว่ามีประวัติของการอักเสบของเนื้อเยื่อบุโพรงหัวใจ เป็นโรคหัวใจ หรือลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจถูกทำลายจากเจ็บป่วยด้วยไข้รูมาติก ใส่ลิ้นหัวใจเทียม โรคกล้ามเนื้อหัวใจโตผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว พร้อมกับอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อบุโพรงหัวใจ เพราะขณะที่มีเลือดออกในช่องปาก เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากจะสามารถเข้าไปในกระแสเลือด และไปฝังตัวที่ลิ้นหัวใจหรือเนื้อเยื่อหัวใจที่อ่อนแออยู่แล้วด้วยอาการของโรคหัวใจ อาจทำให้การติดเชื้อและทำลายลิ้นหัวใจหรือเนื้อเยื่อหัวใจได้ ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจที่กินยาละลายลิ่มเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติซึ่งจะมีผลให้เลือดออกได้ง่าย และหยุดเองยาก ควรปรึกษาแพทย์โรคหัวใจเพื่อจะได้ทำการปรับยา หรือให้หยุดยาละลายลิ่มเลือด และควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนได้รับการรักษาทางทันตกรรมสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการเป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าไปในกระแสเลือดได้ โดยจะติดไปกับไขมันที่เข้าไปสู่หลอดเลือดหัวใจ อาการนี้ทำให้เกิดลิ่มเลือดที่ทำให้เกิดหัวใจวายได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจจึงควรดูแลสุขภาพในช่องปากและฟันให้ดีโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีตลอดจนพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ