ทอนซิลอักเสบ ( Tonsillitis )

0
805
image_pdfimage_printPrint

ทอนซิลอักเสบ ( Tonsillitis )
“ต่อมทอนซิล” ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จัดอยู่ในกลุ่มของเนื้อเยื่อประเภทน้ำเหลือง ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด หน้าที่หลัก คือ การจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร หน้าที่รองลงมาคือ สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งต่อมทอนซิลพบได้หลายตำแหน่ง ที่เห็นชัดจะอยู่ด้านข้างของช่องปาก มีชื่อเรียกว่า พาลาทีนทอนซิล ( Palatine Tonsil ) นอกจากนี้ยังพบได้บริเวณโคนลิ้น ( Lingual Tonsil ) และช่องหลังโพรงจมูก ( Adenoid Tonsil )
ทั้งนี้อาการ “ทอนซิลอักเสบ” เป็นอาการที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นการอักเสบของต่อมทอนซิลคู่ซ้ายและขวา หรือ Palatine Tonsil อยู่ข้างซ้ายและขวาของผนังในลำคอใกล้กับโคนลิ้น ในทางการแพทย์จัดให้โรคต่อมทอนซิลอักเสบอยู่รวมกับโรคคออักเสบ เนื่องจากจะมีอาการอักเสบเพราะการติดเชื้อที่ลำคอเสมอ ประกอบกับมีอาการบวมแดง , กดเจ็บ อาการอาจรุนแรงและคงอยู่ยาวนานกว่า 48 ชั่วโมง , กลืนลำบาก , เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน , มีกลิ่นปาก , มีไข้ , หนาวสั่น , ปวดศีรษะ และปวดที่บริเวณหู ( เนื่องจากต่อมทอนซิลจะมีแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 มาเลี้ยง โดยเส้นประสาทนี้จะไปเลี้ยงที่หู ดังนั้นเมื่อมีต่อมทอนซิลอักเสบจึงมีอาการปวดร้าวที่หูร่วมด้วย )
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบกว่าร้อยละ 70 – 80 มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ และสาเหตุอื่น ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อทั้งหมดอาจอยู่ในน้ำลาย เสมหะ หรืออากาศที่หายใจเข้าไป การสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ตามจุดต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำจากภาชนะเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลได้เช่นกัน นอกจากนี้ในเด็กเล็กที่มีอาการทอนซิลอักเสบอาจไม่สามารถอธิบายได้ว่ามีอาการอย่างไร โดยผู้ปกครองอาจสังเกตจากสัญญาณบ่งบอกต่อไปนี้ น้ำลายไหล มีสาเหตุจากการกลืนได้ลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ , ไม่ยอมรับประทานอาหาร และงอแงผิดปกติ
การรักษาทอนซิลอักเสบ
ทอนซิลอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส ซึ่งจะรักษาให้หายได้ภายใน 7-10 วัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลรักษาตัวเอง ส่วนการรักษาการอักเสบของต่อมทอนซิล ที่เกิดจากแบคทีเรียนั้นใช้เวลานานกว่า และอาจต้องใช้วิธีการรักษาทางแพทย์ ได้แก่ การรับประทานยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัดในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน

การดูแลรักษาตนเอง
เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือมีไข้ ควรรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ แต่หากเป็นไข้อ่อนๆ ไม่มีอาการเจ็บปวดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ข้อควรระวังสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่มีอาการของโรคหวัดธรรมดาหรือโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้มีอาการแพ้หรือที่เรียกว่าโรคเรย์ซินโดรม ส่งผลอันตรายถึงแก่ชิวิตได้ ร่วมด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ , ดื่มน้ำอุ่น หรือ น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง เพื่อให้ชุ่มชื้นคอ , รับประทานอาหารอ่อนๆ , กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยใช้เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำเปล่าประมาณ 250 มิลลิลิตร กลั้วลำคอแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บคอลงได้ , รักษาความชุ่มชื้นของบ้าน หลีกเลี่ยงอากาศแห้งเนื่องจากจะส่งผลให้ระคายเคืองที่คอและเจ็บคอยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองที่คอ อาทิ ควันบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย
ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการดังกล่าวและรู้สึกว่าไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา
—————————————————————————-
บทความโดย : นายแพทย์ปวีณ เพชรรักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยา
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : โสต-ศอ-นาสิก เฉพาะทาง
โทร. 02-836-9999 ต่อ 3921