1

ทปอ.- สจล. เผยคืบหน้า โครงงานวิจัยมุ่งพัฒนาเมืองไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

โครงการ Smart City Start Up Development เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมีแนวคิดที่จะช่วยกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ และเพื่อก้าวให้ทันยุคดิจิตอลและ Internet of things (IOT) โครงการฯ ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2560 (เป็นโครงการระยะเวลา 5 ปี คือปี 2560-2564) โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานโครงการฯ

ผศ. ดร. นพดล มณีรัตน์ หัวหน้าโครงการ Smart City Start Star Up Development จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการฯ ว่า “เป็นโครงการฯ ที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของทีมนักวิจัยไทย โดยมีการคัดเลือกหลายรอบคัดจนเหลือ 20 ทีมสุดท้าย (โดยประมาณ เพราะ ณ วันนี้ยังอยู่ในช่วงการคัดเลือกทีมชุดสุดท้าย) ทุกทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำงานใกล้ชิดกับ Smart City Innovation Hubs ในภูมิภาคต่างๆ พร้อมทั้งเราจะช่วยเชื่อมโยงกับนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศที่สนใจ หน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ รวมถึงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองอัจฉริยะในเมืองอัจฉริยะทั่วโลก เรียกว่าสนับสนุนครบทั้งด้านนโยบาย การเงิน การตลาด และด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ทีมนักวิจัยซึ่งจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในอนาคต (สตาร์อัพ) ได้ก้าวไปสู่ตลาดนานาชาติ
“ในส่วนที่เราเลือก บางแสน และ หาดใหญ่ เป็นเมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เพราะเป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโต เรามีเครือข่ายทีมวิจัยในพื้นที่ จึงมีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (เหมือนเมืองฟุกุโอกะ ญี่ปุ่น) ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สองเมืองนี้ได้รับการยกระดับ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การบริการโดยทางภาครัฐบาล เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของโครงการฯ ที่อยากให้มีผลกระทบเชิงทางสังคม คือสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น”
คุณอภิชาต ศิลป์ศานต์พิศุทธิ์ เจ้าของบริษัทอาชาไนยเทคโนโลยี จำกัด คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการ ความรู้สึกที่ได้รับทุนวิจัย และการนำผลงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติอย่างไร ”ปัญญาประดิษฐ์คือการคิดแทนทำแทนมนุษย์ มีการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับคนไทย และถือเป็นการต่อยอดให้กับนักวิจัยคนอื่นๆ ซึ่งโครงงานวิจัยเราเน้นเรื่องความปลอดภัยซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ 6 ของคนในยุคนี้ อาทิ การคิดกล้องวงจรปิดที่มีเสียงร้องเตือนยามมีภัย โดยสามารถนำมาใช้ในร้ายขายทอง เพื่อสแกนหมวกกันน็อคที่มีผู้สวมใส่เข้ามาในร้าน ก็จะมีเสียงร้องเตือนให้ทางเจ้าของร้านระแวดระวังภัยได้ล่วงหน้า หรือตามด่านคนเข้าเมือง เราก็มีเครื่องสแกนหน้า โดยได้นำไปทดลองใช้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จันทบุรี”

และอีกท่านที่ได้รับทุนวิจัย คุณวริศรา ศรีเจริญ ผู้บริหารสาวจากบริษัทวายเอ็มเอ็มวาย จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม QQ (QUEQ) เปิดเผยเรื่องทุนวิจัยที่ได้รับในครั้งนี้ว่า “เราเติบโตจากการแก้ปัญหาการต่อคิวในร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้เรามีผู้ใช้แอพฯ นี้อยู่ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเราก็จะแชร์จำนวนคน 10% ของแอพฯ มาใช้ในโครงการฯ เพราะการต่อคิวไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในร้านอาหาร แต่เป็นปัญหาที่หนักหนาของทางภาครัฐ โดยเฉพาะรพ.รัฐที่มีทราฟฟิกมากๆ ซึ่งตอนนี้เราลงไปทำวิจัยที่รพ.ราชวิถี, รพ.ศรีระยอง จันทบุรี และรพ.อภัยภูเบศร ปราจีนบุรี โดยมีการใช้คิวเพื่อให้คนไข้รู้ว่าตนเองจะมีเวลารอคอยคิวเป็นเวลานานเท่าไร เพื่อจะได้นำเวลาเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าแค่การนั่งรอ”
โครงการนี้ฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยให้งบประมาณเพื่อการพัฒนาภาพรวม 1,500 ล้านบาท จัดสรรแบ่งให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ 150 ล้านบาท ซึ่งแต่ละทีมที่ได้รับการคัดเลือกก็จะได้รับส่วนแบ่งจากงบประมาณในส่วนนี้ โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ทุกทีมนักวิจัยจะได้รับการเทรนและการลงพื้นที่ ทุกทีมต้องทำโครงงานให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมศกนี้