ทช.วางแนวทางแก้ไขปัญหาแปลงทดลองฟื้นฟูป่าชายเลน เพิ่มทางรอดกล้าไม้
้าพเจ้านางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขอให้ข้อมูลประกอบกรณีเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่ข่าวความว่า “ประจานพวกโลกสวย “ทำเท่” ปลูกป่า!!?? ปล่อยแห้งตายเกลี้ยงแถมทิ้งขยะพลาสติก” ดังนี้
1. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2560 เวลา 21.41 น. เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่ข่าวความว่า “ประจานพวกโลกสวย “ทำเท่” ปลูกป่า!!?? ปล่อยแห้งตายเกลี้ยงแถมทิ้งขยะพลาสติก” โดยประเด็นดังกล่าวเป็นพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลน จำนวน 225 ไร่ ในพื้นที่ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี และป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกนายทุนบุกรุกถือครองเปลี่ยนสภาพเป็นนาเกลือแปลงใหญ่ และ ทช. ดำเนินการตรวจยึดทวงคืนพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 จำนวนทั้งสิ้น 13 แปลง เนื้อที่ 1,698 ไร่ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมาเป็นของรัฐ และสาธารณชนได้มีส่วนร่วมดูแล
2. การดำเนินการตามประเด็นข่าว ได้แก่
2.1 ตามที่ข่าวได้นำเสนอว่ากล้าไม้ตายเกือบ 100% นั้น สำหรับในพื้นที่นาเกลือหากไม่มีกระบวนการปรับสภาพดิน ปรับสภาพน้ำ และระบบนิเวศที่เหมาะสมก่อนไม่มีใครสามารถปลูกต้นไม้ให้รอดได้ และไม่นิยมทำกัน พบว่ากล้าไม้ตายเกือบ 100% เป็นเรื่องจริง เพราะพื้นที่มีสภาพเป็นนาเกลือมายาวนาน ซึ่งทำให้มีการสะสมของเกลือในดิน จนทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง ทช. ได้ทราบถึงปัญหาความท้าทายต่อการฟื้นฟูพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว โดยพื้นที่แปลงปลูกป่าดังกล่าว มีนายทุนรายใหญ่ครอบครองเพียงรายเดียว เนื้อที่มากกว่า 255 ไร่ การที่ ทช. ได้จัดงานโครงการปลูกป่าชายเลนประชารัฐ เนื้อที่ 20 ไร่ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 25๖0 ได้เชิญผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ร่วมกันปลูกป่าชายเลน เพื่อเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์
ในเบื้องต้น ว่าต้องช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่กลับคืนมาให้ได้ไม่ว่าจะต้องลงทุนหรือทำงานด้วยกันหลายภาคส่วน
ให้พื้นที่ดังกล่าวนี้ ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งจะเป็นความท้าทายทั้งในเชิงวิชาการ สังคม และความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม
2.2 ถุงดำเพาะกล้า ที่นำมาครอบอยู่บนไม้หลัก มิใช่เพื่อบังแดดให้กับต้นกล้า แต่เป็นการครอบบนหลักเพื่อแสดงให้เห็นว่า หลักนี้ได้ถูกปลูกไปแล้ว และไม่ได้ปลูกกล้าทั้งถุง และจะมีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บในภายหลัง
2.3 การที่ข่าวได้นำเสนอว่ามีการทุจริตในรูปแบบใหม่ของขบวนการซื้อขายต้นกล้านั้น ทช. ไม่เคยจัดซื้อต้นกล้าจากบุคคลใดทั้งสิ้น มีแต่ประชาชนมาขอรับกล้าไม้ป่าชายเลนไปปลูกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งกล้าไม้ที่ ทช. ได้รับงบประมาณมาเพาะชำเพื่อแจกจ่ายนั้นมีไม่เพียงพอ บางครั้งการเพาะกล้าไม้แจกจ่ายให้ประชาชน ทาง ทช. ก็ดำเนินการเองโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ และได้นำกล้าไม้ส่วนนี้ที่เหลืออยู่นี้มาปลูก ซึ่งชนิดไม้ที่ปลูกครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้ถั่ว โปรง แสมทะเล และโกงกางใบเล็กเป็นบางส่วนเท่านั้น
3. ทช. ได้ดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดทำแปลงทดลองฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ที่ผ่านการทำนาเกลือ เนื้อที่ 70 ไร่ โดยร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และชุมชนท้องถิ่น ร่วมศึกษาวิจัยพื้นที่เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมโดยยึดหลักวิชาการมาใช้ปรับสภาพพื้นที่ก่อนที่จะปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการขุดคูแพรกเพื่อชักนำน้ำทะเลให้เข้าถึงพื้นที่ และช่วยในการชะล้างเกลือที่สะสมออกไปจากพื้นที่ พร้อมทั้งจะได้ปลูกทดลองชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน
4. ทช. จะได้นำผลการศึกษาวิจัยจากแปลงทดลองฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ผ่านการทำนาเกลือตาม ข้อ 3. ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่ถูกบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นนาเกลือในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป รวมทั้ง จะได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้เห็นผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนจากการบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ เพื่อร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนในการดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับคืนความสมบูรณ์
5. ช่องทางการเผยแพร่
– มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงไปยังบรรณาธิการ นสพ.ผู้จัดการออนไลน์
– จัดทำสกู๊ป/บทความลงสื่อหนังสือพิมพ์
– เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่างๆ ของกรม/กระทรวง
///////////////////////////////////