ต่างชาติ ดูงานขับเคลื่อน “สามพรานโมเดล” ศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นครปฐม : เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้บริหารระดับสูง จากประเทศคู่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทย จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน โคลัมเบีย ลาว มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงค์โป บังคลาเทศ ศรีสังกา เยอรมณี รวมถึง ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปชิฟิก ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ สู่การสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้สามพรานโมเดล และ Organic Tourism รวมถึงศึกษาการดำเนินธุรกิจของสวนสามพราน เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคการท่องเที่ยวและงานพัฒนาชุมชน ที่ก่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นหนึ่งในโปรแกรมการอบรมหลักสูตร Sufficiency Thinking in Sustainable Development (STiSD) ครั้งที่ 2 ที่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม 2561 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม
และในการนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โดย รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม รองคณบดี งานบริการวิชาการ องค์กรผู้ร่วมจัดอบรม ได้เชิญ คุณอรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพราน และผู้ริเริ่ม สามพรานโมเดล เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ พร้อมแชร์ประสบการณ์ การขับเคลื่อนสามพรานโมเดล โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน บนฐานการค้าที่เป็นธรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพร้อมกันนี้เชิญภาคีร่วมขับเคลื่อนทั้งตัวแทนฝั่งผู้ประกอบการในฐานะผู้บริโภค และเกษตรกรผู้ผลิต อาทิ ดร.วิษณุ บ่างสมบูรณ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาองค์กร กลุ่มโรงแรมสุโกศล หนึ่งในองค์กรภาคธุรกิจโรงแรม และคุณวรากร เลาหเสรีกุล อดีตนักธุรกิจ ที่ผันตัวเองมาทำเกษตรกรอินทรีย์ มาร่วมแชร์ หลักคิด บอกเล่าประสบการณ์ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ พร้อมสะท้อนมุมมองคุณค่าของออร์แกนิก ที่ไม่ใช่แค่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังช่วยเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ คุณอรุษ ยังพาคณะลงพื้นที่ไปสัมผัสวิถีอินทรีย์ ดูการจัดการระบบฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ที่ ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม และไปเยี่ยมชมชุมชนตัวอย่างการพัฒนาที่ยั่งยืน พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ คุณประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้างช้าง หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสามพรานโมเดล ผู้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำสวนผลไม้อินทรีย์ โดยเขาใช้เวลานานกว่า 10 ปี ฝ่าฟันอุปสรรค จนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม พาครอบครัวหลุดพ้นวงจรเคมีสู่วิถีอินทรีย์ยั่งยืน สามารถปลดหนี้ และได้โฉนดคืน อีกทั้งยกระดับตัวเองสู่เกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ