ติดปีกเอสเอ็มอี อนุมัติแล้ว 2 เอสเอ็มอีแรกจาก จ.น่าน ใช้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้
ฝ่ายมาตรการส่งเสริมสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยนายศราวุธ เลาหวิสุทธิ์ ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( SME Development bank) โดยนายกัณตพนธ์ แก้วมณี ผู้บริหารระดับสูง พร้อมทั้ง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยนายนิธิศ มนูญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. จัดโครงการ ” ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ” ผลักดันผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 โดยมีนายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในนามประธานคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดน่านเป็นประธานในการเสวนา รวมทั้งแถลงผลการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ 2 รายแรกของประเทศตามยุทธศาสตร์ของกองทุนประชารัฐ คือ 1.บ.ชมพูภูคา จก. ผู้ผลิตเครื่องเงิน และ 2. หจก.น่านดูโอ คอฟฟี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟแบบครบวงจร รวมสินเชื่อที่อนุมัติไปทั้งหมด 13 ล้านบาท โดยใช้ บสย.ค้ำประกัน
วันที่ 15 พ.ค. 2560 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดน่าน ได้ประชุมหารือคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในฐานะหน่วยร่วมการบริหารสินเชื่อกองทุน ได้ผลักดันลูกค้าธนาคารเข้าสู่แหล่งทุน 2 ราย โดยรายแรก คือ บริษัทชมพูภูคา จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องเงิน จัดเป็น SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องประดับและสิ่งทอ เป็นกลุ่มธุรกิจที่จังหวัดน่านให้การส่งเสริมเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว สามารถสร้างงานสร้างอาชีพและเป็นการอนุรักษ์ของดีของจังหวัด จึงได้รับเงินทุนจากโครงการเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 3 ล้านบาท และจากโครงการ SMEs Transformation Loan อีก 5 ล้านบาท รวม 8 ล้านบาท และสามารถใช้ บสย.ค้ำประกัน รายที่สอง ห้างหุ้นส่วนจำกัด น่านดูโอ คอฟฟี่ จัดเป็น SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เป็นกลุ่มธุรกิจที่จังหวัดน่านให้การส่งเสริมเป็นพิเศษเช่นกัน เนื่องจากสามารถสร้างธุรกิจต้นน้ำที่มีศักยภาพ ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัด เปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวโพดที่มีราคาถูกมาสู่การปลูกกาแฟซึ่งมีราคาแพงกว่า ทำให้ชุมชนมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีเกษตรกรในโครงการกว่า 856 รายบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,500 ไร่ ได้รับการอนุมัติเงินทุนจากโครงการเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 3 ล้านบาท และจากโครงการ SMEs Transformation Loan อีก 2ล้านบาท รวม 5ล้านบาทและสามารถใช้ บสย.ค้ำประกัน
ทั้งนี้โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และโครงการ SMEs Transformation Loan รวมทั้งกองทุนต่าง ๆ ยังพร้อมให้บริการกับประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งรายเก่าและรายใหม่ ที่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถต่อยอดได้และสร้างรายได้ให้กับชุมชนของตนเอง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( SME Development bank)ทุกสาขา และฝ่ายมาตรการส่งเสริมสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ทุกจังหวัด