ติดปีกความรู้สู่นอกห้องเรียนที่ “พิพิธภัณฑ์เด็ก” ชวนน้องอนุบาล-ประถม สนุกกับการเรียนรู้แนวทาง STEM พร้อมเสริมทักษะทางสังคม

0
296
image_pdfimage_printPrint

IMG_6296

ติดปีกความรู้สู่นอกห้องเรียนที่ “พิพิธภัณฑ์เด็ก” ชวนน้องอนุบาล-ประถม สนุกกับการเรียนรู้แนวทาง STEM พร้อมเสริมทักษะทางสังคม

เมื่อเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า จึงไม่อาจละเลยการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเยาวชนไทยตั้งแต่ตอนนี้ แต่ถ้าจะมุ่งอัดความรู้ทางวิชาการในห้องสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เด็กขาดความสุขในการเรียนรู้และยังไม่เพียงพอที่จะปั้นเด็กไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ภาครัฐจึงได้ส่งโครงการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน : ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน โดยเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทาง STEM เสิร์ฟให้นักเรียนทั่วประเทศ โดยมีแหล่งเรียนรู้มากมายขันอาสาเปิดพื้นที่ให้น้องๆ เข้ามาสนุกกับการเปิดสมองประลองปัญญาในช่วงเปิดเทอม และหนึ่งในพันธมิตรที่พร้อมขับเคลื่อนโครงการนี้อย่าง พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร ก็ขอส่งทัพกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อต้อนรับน้องๆทั้ง 4 โรงเรียน หมุนเวียนเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินตลอดวัน โดยมุ่งหวังให้พวกเขาพกพาความชาญฉลาดควบคู่ทักษะอยู่ร่วมกันกลับสู่รั้วโรงเรียนด้วยรอยยิ้ม

สืบเนื่องจากนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ส่งผลให้คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ มุ่งหวังจะผลักดันกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนในช่วงเวลาเปิดเทอมให้มากที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับเยาวชน นั่นเป็นเหตุผลให้เกิดโครงการ “จัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน : ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน” ตามหลักการ STEM Education โดยมุ่งการบูรณาการความรู้สาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าไปในรูปแบบการเรียนรู้ที่หน่วยงานต่างๆจะสร้างสรรค์ขึ้น โดยวางเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ กิจกรรมทัศนะศึกษาพิพิธภัณฑ์เด็ก โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 หน่วยงานของคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้ นำเสนอกิจกรรมที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ (Methods of Learning) ที่หลากหลายให้เกิดแรงจูงใจ (Motivation) ที่สอดคล้องกับพัฒนาการและศักยภาพตามธรรมชาติของเด็ก โดยคัดสรรสาระความรู้ที่เหมาะสมมาเอาใจเยาวชนไทยเต็มเหนี่ยว เช่น เปิดโอกาสให้น้องๆวัยอนุบาลร่วมสนุกกับการต่อเลโก้ และฟังนิทานเสริมสร้างจินตนาการก่อนเปิดเวทีให้หนูน้อยละเลงสีสันบนตัวการ์ตูนได้อย่างอิสระที่โซนห้องศิลปะ ส่วนเด็กวัยประถมซึ่งเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ตามแนวทาง STEM ได้อย่างเต็มที่ ก็พร้อมเพลิดเพลินกับการบรรยายของพี่ๆจากพิพิธภัณฑ์เด็ก ที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถาม ค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง และวิเคราะห์การค้นพบใหม่ๆ เพื่อไปบูรณาการต่อยอดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ ทั้งความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจอย่าง สิ่งประดิษฐ์ การเดินทางของลม ที่ลานสร้างสรรค์และโซนวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ และขึ้นชั้นบนเพื่อเรียนรู้การสร้างเมืองอย่างง่ายที่สอดแทรกความรู้ด้านพลังงานเข้าไปด้วย หรือแม้กระทั่งสนุกสนานกับโลกอดีตด้วยการเป็นนักสืบไดโนเสาร์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมภายนอกอาคาร อาทิ สวนน้ำ สนามเด็กเล่น และJungle Adventure ผจญภัยในป่าให้เด็กๆได้ใช้ศักยภาพร่างกายพร้อมพัฒนาความคิดไปด้วย โดยกิจกรรมครั้งนี้มีสถานศึกษาที่แสดงความสนใจเข้าร่วมจำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนมีนประสาท โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนหลวงแพ่ง (บำรุงรัฐกิจ) และโรงเรียนนานาชาติแอสคอต

ครูยุพาพร จันทร์เพ็ญ ครูประจำชั้นป.2 โรงเรียนหลวงแพ่ง (บำรุงรัฐกิจ) กล่าวถึงสาเหตุก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า หลังจากรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการนี้จึงเกิดความสนใจจะนำเด็กนักเรียนมาที่พิพิธภัณฑ์เด็ก โดยคุณครูคาดหวังว่าเด็กจะได้รับทั้งความสนุกและความรู้ในยุคใหม่กลับไปปรับใช้ในการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจากการสอบถามเด็กนักเรียนแล้ว พวกเขาสามารถเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ด้วยการสัมผัส มีโอกาสได้ทดสอบและทดลองด้วยตัวของเด็กๆเอง และยังได้รับการเสริมความรู้ด้วยการฟังคำอธิบายของวิทยากร จึงทำให้เด็กๆได้รับประสบการณ์จริงนำไปต่อยอดการเรียนรู้ของเขาเองได้ ส่วนคณะครูที่มาดูแลเด็กๆนั้นก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยจะนำรูปแบบการเรียนรู้ไปประชุมกันแล้วประยุกต์ใช้ในโรงเรียน ด้านครูสนธยา ผังรักษ์ ครูประจำชั้นป.3/3 และครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่เด็กๆจะได้รับในการเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ จะช่วยเปิดโลกและขยายมุมมองทางความคิดให้กว้างมากขึ้นผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง อาทิ รู้จักและเข้าใจการวางแผนล่วงหน้าอย่างเหมาะสมจากการทำกิจกรรมสร้างเมือง โดยคำนึงถึงความจำเป็นและใส่ใจสภาพแวดล้อมควบคู่กัน นอกจากนั้นยังทำให้เด็กๆเรียนรู้เรื่องความสามัคคี ความร่วมมือในการทำงาน ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมทั้งซึมซับหลักการเข้าสังคม โดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัย การเคารพซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน

เมื่อได้ฟังความคิดเห็นของคุณครูแล้ว ขณะเดียวกันหากมองลึกเข้าไปในแววตาและสังเกตเห็นท่าทางที่กระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์เด็กของน้องๆแล้ว ย่อมสะท้อนถึงประโยชน์มากมายก็จริง แต่สำหรับน้องๆที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ พวกเขามีความรู้สึกเพิ่มเติมที่อยากจะบอกให้สังคมรับรู้ ซึ่งน้องอิ๊ง-เด็กหญิงสิรินภา เรืองโชติ และน้องพัน-เด็กหญิงนงนภัส กาญจนพูนผล ชั้นป.3/3 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นกิจกรรมที่ดีที่ให้ความสนุกและความรู้มากมาย สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้ทันที เพราะเป็นเรื่องที่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่แล้ว และอยากบอกต่อให้เพื่อนจากโรงเรียนอื่นๆ เข้ามาสนุกกับการเรียนรู้แบบนี้ด้วยเช่นกัน