1

ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดงานประชุมแพทย์นานาชาติระดับโลกครั้งที่ 3

ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากระดับเอเชีย เตรียมจัดงานประชุมแพทย์นานาชาติระดับโลกครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “ปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายตัวอ่อน เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ” โดยมีแพทย์จาก 8 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน เวียดนาม พม่า สิงค์โปร อินเดีย บังกลาเทศ และ ไทย จำนวนกว่า 30 คน เข้าร่วมเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาผู้มีบุตรยาก

นายศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย กล่าวว่า ในปีนี้ ทางศูนย์ซูพีเรียฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสวนาแพทย์นานาชาติระดับโลก ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2560 ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้แพทย์ในแต่ละประเทศผู้เข้าร่วมประชุม ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลต่างๆ ทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์สูงสุดในการรักษาคนไข้ โดยในปีนี้มีแพทย์จำนวนกว่า 30 คน จาก 8 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน เวียดนาม พม่า สิงค์โปร อินเดีย บังคลาเทศ เข้าร่วมเสวนา สำหรับหัวข้อสัมมนาในปีนี้คือ “ปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายตัวอ่อน เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ” เพราะกระบวนการย้ายตัวอ่อน ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาผู้มีบุตรยาก เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ

นายศรายุธ อัสสมกร กล่าวต่อว่า “นับเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ได้รับความไว้ใจให้เป็นเจ้าภาพถึง 3 ปีติดต่อกัน ถือเป็นความสำเร็จภายหลังที่เราได้ร่วมทำงานกับทีมแพทย์และทีมนักวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ประเทศมากว่า 10 ปี จนได้รับความไว้วางใจ และถูกจัดให้เป็นศูนย์ผู้มีบุตรยากที่มีผลสำเร็จในระดับเอเชียจนเป็นที่ยอมรับแก่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทางด้านการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกในภูมิภาคเอเชีย ปัญหาที่มักพบในคนไข้นอกจากจะเป็นปัญหาผู้มีบุตรยากแล้ว ยังมักพบผู้มีปัญหาด้านโรคพันธุกรรมเพิ่มขึ้นอีกด้วย การสัมมนาในครั้งนี้ไม่ใช่มีแค่เรื่องเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับในครั้งนี้คือ วิธีการดูแลคนไข้ที่เราได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบต่ออัตราความสำเร็จต่อการรักษา หรือแม้แต่เรื่องสำคัญอย่างปัจจัยที่มีผลขณะย้ายตัวอ่อนก็เป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้แพทย์ให้การตอบรับเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก”

นายศรายุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากงานประชุมดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำมาเพิ่มอัตราความสำเร็จให้กับลูกค้าไทย อีกทั้งยังเป็นเวทีที่ให้ศูนย์ฯ ได้แสดงศักยภาพในฐานะที่เป็น Hub ของภูมิภาคเอเชีย เพื่อจะนำมาซึ่งชื่อเสียงสู่ประเทศ และเพื่อเผยแพร่และขยายองค์ความรู้ของคนไข้ที่มีความเสี่ยงกับโรคพันธุกรรมอีกด้วย