ซีพีมุ่งสู่เส้นทางความยั่งยืน เดินหน้าแสวงหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเวทีระดับโลก “Responsible Business Forum” ที่ประเทศสิงคโปร์

0
396
image_pdfimage_printPrint

ซีพีมุ่งสู่เส้นทางความยั่งยืน เดินหน้าแสวงหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเวทีระดับโลก “Responsible Business Forum” ที่ประเทศสิงคโปร์ ร่วมระดมสมองขับเคลื่อน “Circular Economy” หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ลดวัฒนธรรม “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ชูโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่ เป็นโมเดลต้นแบบ Circular Economy ในภาคเกษตร และร่วมหารือกับองค์กรระดับโลกจัดตั้งศูนย์เพื่อความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมรายย่อย เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรายย่อย 450 ล้านคนทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมการประชุมด้านความยั่งยืนบนเวทีระดับโลก “Responsible Business Forum” ซึ่ง Global Initiatives องค์กรความยั่งยืนระหว่างประเทศ และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ Circularity 2030: Towards Zero Waste. Next Generation Leaders. Circular Economy Jobs of the Future เพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นระดับโลกว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในการนี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี มีนโยบายดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการแสวงหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ซีพีเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนระดับโลกได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อไปว่า บนเวทีความยั่งยืน“Responsible Business Forum” ในครั้งนี้มีวาระสำคัญคือการร่วมผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยแนวคิด Zero Waste หรือ ขยะเหลือศูนย์ โดยการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ไม่มีขยะ รวมถึงการลดวัฒนธรรมในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง (take-make-waste) หรือเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ผลิตภัณฑ์กลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว มาสู่เศรษฐกิจแบบวงกลมหรือเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDG) ได้แก่ เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้นำรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ นายนพปฎล ยังได้ร่วมเสวนาหัวข้อ Circularity 2030: The circular economy as an accelerator for the SDGs หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์อาวุโส มัลคอล์ม เพรสตัน(Malcolm Preston) แห่งวิทยาลัยการจัดการเคลล็อก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านความยั่งยืนเป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย Mr.David McGinty ผู้อำนวยการระดับโลก แพลตฟอร์มขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE) Ms.Eva Gladek ผู้ก่อตั้งและประธานคณะผู้บริหาร Metabolic และ Mr.Bey Soo Khwang รองประธาน RGE และ ประธาน April Group โดยนายนพปฎล ได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำธุรกิจของซีพีภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ยกตัวอย่างโครงการเกษตรกรรมหมุนเวียนทันสมัยผิงกู่ ปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นโครงการเลี้ยงไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวภายใต้รูปแบบ “สี่ประสาน” ผ่านความร่วมมือของ 4 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร โดยซีพีเป็นผู้เช่าพื้นที่และบริหารจัดการ ซึ่งมีกระบวนผลิตที่นำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้อย่างคุ้มค่า รักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ อาหารสัตว์จะถูกลำเลียงผ่านท่อไปยังฟาร์มเลี้ยงไข่ไก่ แล้วนำส่งไปเลี้ยงไก่ เมื่อไก่ออกไข่แล้ว ไข่จะถูกส่งโดยสายพานลำเลียงไปสู่พื้นที่จัดเก็บและคัดแยกภายในโรงงาน ภายในโรงงานมีแขนกลเหมือนที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ค่อยๆ นำไข่ไก่ขึ้นวางบนชั้น กระบวนการผลิตเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด นอกจากนี้มูลจากไก่ 3 ล้านตัวจะถูกนำไปทำปุ๋ยชีวภาพและนำไปใช้ในสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนไก่แก่ที่ไม่สามารถออกไข่ได้แล้วจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหาร และชิ้นส่วนที่เหลือจะนำไปเป็นอาหารจระเข้ ซึ่งจะเห็นได้ถึงการลดใช้ถุงพลาสติกที่บรรจุทั้งวัตถุดิบและอาหารสัตว์ การลดขั้นตอนขนส่งวัตถุดิบ อันนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ยากจน

นอกจากนี้ นายนพปฎล ได้กล่าวต่อไปว่าผู้นำขององค์กรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเรื่อง Circular Economy ในองค์กร และในการสร้างความตระหนักแก่ผู้บริหารระดับสูง แต่ละองค์กรต้องจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและสนับสนุนการทำรายงาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและประโยชน์ในการติดตามผลต่อไป โดยยกตัวอย่างการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกของเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี สามารถสร้างการยอมรับของผู้บริโภคได้สำเร็จ

บนเวทีนี้ ยังหารือกันเกี่ยวกับปัจจัยที่จะช่วยให้ Circular Economy ประสบความสำเร็จ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การส่งเสริมนวัตกรรม ความร่วมมือและการประสานเชิงนโยบาย (เช่น การเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้สอดคล้องกับ Circular Economy) ขณะเดียวกัน Circular Economy เองยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 450,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังหารือกันเกี่ยวกับ การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่กำลังเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับภูมิภาค รวมทั้งไทย ซึ่งยังไม่มีระบบรองรับเพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลขยะ รวมทั้ง E-Waste ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้กรณีของไทยถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างตลอดการหารือทั้งในฐานะที่ยังมีปัญหาการกำจัดขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในแหล่งการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ การขาดระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่ดี เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการทดลองโครงการกำจัดขยะพลาสติก และความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ การกำหนดคำจำกัดความของ “ขยะ” ว่าผลิตภัณฑ์หรืออาหารในสภาพไหนจัดว่าเป็นขยะ เช่น เสื้อผ้าที่ขายไม่ออก หรืออาหารที่เหลือ (Food waste) มักถูกนำไปทิ้งเพื่อถมที่ (Landfill) แต่ใยผ้าของเสื้อผ้าเหล่านั้นอาจถูกนำมาแยกเพื่อนำไปใช้ใหม่ หรืออาหารอาจนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อได้

ในการประชุม Responsible Business Forum ครั้งนี้ ยังมีประเด็นการหารือเกี่ยวกับประเด็น การสร้างเมืองและภารกิจเพื่อสนับสนุน Circular Economy ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นร่วมกันว่าการสร้างเมืองที่จะเอื้อให้เกิด Circular Economy จะต้องมีนโยบายแบบครอบคลุม ทั้งด้านการจัดเก็บขยะ การสาธารณสุข การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการคิดหาวิธีนำวัสดุกลับไปใช้ได้ใหม่ เป็นต้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลของหลายประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและรัฐบาลกลางต่างตื่นตัวในการส่งเสริม Circular Economy กันมากขึ้น แต่พบว่าการส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ยังประสบกับความท้าทายหลายประการ อาทิ การกำหนดสถานที่ตั้งของโรงงานคัดแยกและกำจัดขยะ การสร้างตลาดสำหรับสินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหล่านี้ การขยายขนาดของธุรกิจให้คุ้มทุน การออกกฎระเบียบที่จะเอื้อให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Circular Economy สามารถเติบโตได้

นอกจากนี้ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมรายย่อย” (Centre of Excellence for Smallholder Farming Systems Management) ที่สิงคโปร์ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Bayer และบริษัท Asia Business มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 450 ล้านคนทั่วโลก โดย 350 ล้านคนอยู่ในเอเชียและในจำนวนนี้ อยู่ในอาเซียนประมาณ 100 ล้านคน และพบว่าเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่สำคัญคือการไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรกรรม (Soft Constraints) 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.เทคโนโลยี 2.วัตถุดิบในการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง 3.ระบบสาธารณูปโภคที่ดี 4.เงินทุน 5.ตลาด ในขณะเดียวกันยังเผชิญกับปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรรม (Hard Constraints) อีกด้วย อันได้แก่ 1.ดิน ในพื้นที่เกษตรมีคุณภาพต่ำ 2.สภาวะแล้งน้ำ 3.อากาศร้อน 4.พื้นที่เกษตรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร

การประชุมนี้มีผู้แทนองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำเข้าร่วม อาทิ Bayer, Temasek Holdings, Olam, Unilever, Swiss re และผู้แทนองค์กรอื่น ๆ ด้านการส่งเสริมความยั่งยืนที่เข้าร่วม อาทิ UNDP, Stockholm Environmental Institute, Murdoch University จากออสเตรเลีย และ Grow Asia ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางช่วยแก้ปัญหาแก่เกษตรกรรายย่อย

ในการนี้ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมรายย่อยได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาผ่านแนวทาง “การเกษตรบนพื้นฐานขององค์ความรู้และข้อมูล” ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนและดัดแปลงเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยนำไปใช้ได้จริง 2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีไปใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้ 3. การสร้างคลังความรู้ เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เน้นการแก้ปัญหา พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยจะจัดตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นที่สิงคโปร์เพราะเป็นแหล่งเงินทุนและศูนย์กลางนวัตกรรม และเป็นศูนย์กลางอาเซียน

ทั้งนี้ นายนพปฎล ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากประเทศไทย โดยกล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยในไทยต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกับเกษตรกรรายย่อยในทั่วโลก คือการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ตลาด โรคระบาด และเงินทุน ทั้งต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และความผันผวนของราคาผลิตผลทางการเกษตร แต่สำหรับเครือซีพีนั้นถือว่าเกษตรกรคือ “คู่ชีวิต” โดยเครือซีพีได้เริ่มธุรกิจเลี้ยงไก่กับเกษตรกรรายย่อยในรูปของเกษตรพันธสัญญาและเติบโตไปพร้อมกัน จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรพันธมิตรประมาณ 5,800 ราย และนอกเหนือจากนี้ได้พยายามส่งเสริมเกษตรกรในรูปขององค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้วยการรวบรวมพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กเข้าด้วยกัน โดยเครือซีพีจะช่วยลดความเสี่ยงผ่านการรับซื้อผลผลิตและการประกันผลกำไรที่มากกว่าเดิม รวมถึงการจัดหาเทคโนโลยี การจัดอบรม นอกจากนี้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารในปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่ระบบซื้อขายตลอดห่วงโซ่อุปทาน แต่ต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญ คือ การสร้างความเชื่อใจกับเกษตรกรเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว ทั้งนี้ เครือฯ พร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์ และกรณีตัวอย่างของเครือฯ อาจจะเป็นบทเรียนสำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางแก้ปัญหาของเกษตรกรแต่ละประเทศ ขึ้นกับข้อจำกัดของแต่ละท้องถิ่นด้วย