ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี ผุดนวัตกรรมการ์ดตรวจคุณภาพน้ำบริโภคอัจริยะแบบพกพา

0
327
image_pdfimage_printPrint

นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมการออกแบบและผลิตไมโครชิพอัจฉริยะ สำหรับอุปกรณ์ RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบ่งชี้อัตลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ผลิตการ์ดตรวจวัดคุณภาพน้ำบริโภคอัจฉริยะแบบพกพา (Water Card) ไร้แบตเตอรี่ เพื่อใช้ตรวจสอบน้ำที่เหมาะสมต่อการบริโภค โดยเป็นการพัฒนาจากไมโครชิพที่ใช้เทคโนโลยี NFC คลื่นความถี่แบบไร้สายในระยะประชิด ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านโทรศัพท์มือถือ เชื่อมต่อกับเครื่องตรวจวัดอัจฉริยะ (Smart Sensor) เพื่อการวัดและการอ่านค่าองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความสะดวกรวดเร็วและใช้งานได้ง่าย

“Water Card” มีประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวล และไม่มั่นใจต่อคุณภาพของน้ำที่จะนำมาใช้บริโภคทั้งดื่ม และประกอบอาหาร จากการเกิดสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่ค่อนข้างรุนแรงสืบเนื่องต่อกันมาระยะหนึ่ง ส่งผลให้น้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณน้อยมากทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับผลักดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงปัญหาความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถึงแม้คุณภาพน้ำประปา ณ ปัจจุบัน เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่รสชาติของน้ำประปาในบางพื้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นรสชาติกร่อย ซึ่งมีกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงบริโภคน้ำช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ เด็กเล็ก เป็นต้น

รวมทั้งช่วงหน้าฝนที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทำให้เกิดความกังวลถึงสารเคมีที่อาจตกค้างในน้ำต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากอาหาร โดยการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นดังกล่าวนี้ จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจระดับหนึ่งว่าน้ำสะอาดสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย” นายมานพ กล่าว

โดยการ์ดตรวจวัดคุณภาพน้ำบริโภคอัจฉริยะแบบพกพา (Water Card) นั้น จะใช้เพื่อตรวจวิเคราะห์วัดความบริสุทธิ์ของน้ำทางเคมีเบื้องต้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพน้ำบริโภค คือค่า TDS (Total Dissolved Solids) ปริมาณของแข็งที่แขวนลอยหรือละลายอยู่ในน้ำได้แก่ แร่ธาตุ, เกลือ, โลหะ, ไพเพอร์หรือแอนไอออนที่ละลายในน้ำ รวมถึงโมเลกุลและสารแขวนลอยต่างๆ เป็นต้น เพื่อแสดงค่าผลรวมการวิเคราะห์ของ TDS เท่านั้น โดยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำบริโภคที่ปลอดภัยมีปริมาณ ค่า TDS ต้องไม่เกิน 500 ppm
สำหรับวิธีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้ 1.หยดน้ำที่ต้องการตรวจสอบ อาทิ น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำฝน เป็นต้นลงบน Water Card ในตำแหน่งที่ใช้อ่านค่า 2.เปิดแอปพลิเคชัน Liquid Meter หรือ Smart Care สามารถดาวน์โหลดผ่านระบบ Android และ iOS 3.วางโทรศัพท์มือถือที่มี NFC แตะลงบนการ์ด 4.ใช้เวลาประมวลผลได้เร็วเพียงไม่เกิน 5 วินาที ค่า TDS จะปรากฎแสดงผลในแอปพลิเคชัน ว่าน้ำนั้นสามารถบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม Water Card สามารถใช้งานได้มากถึง 100 ครั้ง และยังเก็บข้อมูลง่ายทั้งในโทรศัพท์มือถือและบนระบบคลาวด์ได้เช่นกัน