กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2555 : สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ขานรับนโยบายรัฐพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับภาพรวมและขยายรายได้การท่องเที่ยวไทย ด้วยโครงการ Cloud Studio: Tourism Solutions โดยเดินสายแนะนำซอฟต์แวร์โซลูชั่นและเทคโนโลยีคลาว์ดแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน 9 เมืองด้านท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เกิดมูลค่าทางธุรกิจกว่า 100 ล้านบาท นับเป็นมิติใหม่ในการรวมตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการส่งเสริมการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ขยายศักยภาพการแข่งขัน โดย Tourism เป็นหนึ่งใน 6 อุตสาหกรรมหลักที่ซิป้าส่งเสริมพัฒนาซอฟต์แวร์โซลูชั่นและการให้บริการซอฟต์แวร์ (Software as a Services) อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ยอมรับว่าซอฟต์แวร์มีบทบาทอย่างมากกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยซิป้าได้วางเป้าหมายที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์โซลูชั่นและการให้บริการซอฟต์แวร์เพื่อรองรับ 6 อุตสาหกรรมหลัก คือ Tourism, Logistics, Food & Agriculture, Healthcare, Education และ Jewelry อันเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้แก่ประเทศหรือเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ปี พ.ศ. 2554 – 2555 เป็นปี “มหัศจรรย์ไทยแลนด์” (“Miracle Thailand” Year) ซิป้าจึงร่วมกับสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จัดกิจกรรม Road Show ภายในประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ Cloud Studio: Tourism Solutions ด้วยแนวคิด ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยด้วยคลาว์ด” เป็นการนำซอฟต์แวร์ด้านการท่องเที่ยวที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยและให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตไปเผยแพร่และแนะนำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท บริษัททัวร์ สปา ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว รถเช่า ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวรวม 9 เมือง ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ เขาใหญ่ ภูเก็ต หัวหิน เกาะสมุย กาญจนบุรี อุดรธานี และกรุงเทพฯ โดยที่จุดเด่นของการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านคลาวด์เทคโนโลยีคือผู้ใช้ไม่ต้องจัดหาระบบซอฟต์แวร์เอง เพียงแต่ขอใช้ในลักษณะเป็นบริการและจ่ายเงินตามปริมาณการใช้งาน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่ต้องลงทุนมาก ขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้รับการตอบรับอย่างดี และเกิดมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 100 ล้านบาท”
“กิจกรรม Road Show ภายในประเทศ Cloud Studio: Tourism Solutions เป็นหนึ่งในกิจกรรมเชิงรุกด้านการตลาดของซิป้าที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการจัดงานแต่ละครั้งจะประกอบด้วยสัมมนาสำหรับผู้บริหารและด้านเทคนิค การแสดงโซลูชั่นด้านการท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย การ Networking การสาธิตการใช้ซอฟต์แวร์ (Demonstration) และการเข้าพบสมาคม หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างการรับรู้ของตลาดด้านเทคโนโลยีคลาว์ดแก่ธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ซิป้ายังมีบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย และกิจกรรมนี้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของซอฟต์แวร์ที่สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและขยายโอกาสด้านการตลาด” นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว กล่าวเพิ่มเติม
ดร.พีรสันต์ บุณยคุปต์ นายกสมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สมาคมส่งเสริมการส่งออกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้ร่วมดำเนินโครงการ Cloud Studio: Tourism Solutions กับซิป้า โดยนำซอฟต์แวร์ไทยด้านการท่องเที่ยวที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยไปร่วมแสดงในการจัดงานแต่ละครั้ง และแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ Hotel Solutions, Travelling, Spa & Restaurant และ Mobility and Digital Marketing เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนในโซลูชั่นที่สนใจ โดยได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ และเนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ความสนใจด้านโซลูชั่นและแนวทางการตลาดจึงแตกต่างกันไป กิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะทำให้พบกับกลุ่มผู้ซื้อแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยได้เห็นช่องทางการตลาดและภาพรวมของพื้นที่แต่ละแห่งชัดเจนขึ้น” ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายมีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามในการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในปี 2555 ซิป้าได้นำผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยร่วมแสดงโซลูชั่นภายในงานด้านการท่องเที่ยวและด้านเทคโนโลยีคลาว์ดในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 4 งาน ได้แก่ งาน 3rd Cloud Computing Expo ณ ประเทศญี่ปุ่น งาน Malaysian International Tourism Exchange ณ ประเทศมาเลเซีย งาน JATA Tourism Forum &Travel Showcase ณ ประเทศญี่ปุ่น และงาน ITB ณ ประเทศสิงคโปร์ และเป็นที่น่าสนใจว่าซอฟต์แวร์โซลูชั่นของไทยเป็นที่รู้จักและเกิดการยอมรับในตลาดต่างประเทศโดยเกิดมูลค่าซื้อขายทางธุรกิจ ประมาณ 328 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับมูลค่าส่วนตลาดในประเทศ มูลค่ารวมของตลาดของซอฟต์แวร์ด้านท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมมีมากกว่า 428 ล้านบาท