ซัมซุง จัดเวิร์คช็อป “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ก้าวใหม่การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู

0
658
image_pdfimage_printPrint

Samsung

ซัมซุง จัดเวิร์คช็อป “ห้องเรียนแห่งอนาคต”
ก้าวใหม่การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู
“การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” คือหัวใจของการเรียนรู้ที่สำคัญประการหนึ่งในกระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนแห่งอนาคต เพื่ออนาคตของเด็กไทย” ที่ ซัมซุง จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในงาน EDUCA 2015 งานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ให้กับคุณครูผู้สนใจนวัตกรรมการศึกษาใหม่ของซัมซุง จึงได้รับการออกแบบให้คุณครูที่เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ได้ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” ด้วยกระบวนการเรียนรู้ในแบบที่จะฝึกให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Learner) และฝึกฝนทักษะการเป็น “โค้ช” หรือ “ที่ปรึกษา” (Teacher as Coach)
ในการจัดอบรมครั้งนี้ยังถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายแนวคิด “ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต” แนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โครงการเพื่อสังคมของ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โครงการได้นำกรอบแนวคิดการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางสากล มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทไทย
คุณศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “เวิร์คช็อปครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการขยายผลแนวคิดสู่คุณครูนอกโครงการอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ได้พัฒนาแนวทางร่วมกับโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 41 แห่งในโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ทั่วประเทศ ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา”
จากห้องเรียนแห่งอนาคตที่เคยจำกัดอยู่ใน “ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต” ทั้ง 41 แห่ง วันนี้โครงการกำลังเดินหน้าที่จะขยายความคิดและถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ไปยังครูคนอื่นๆ ห้องเรียนอื่นๆ ที่ซัมซุงหวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับเด็กที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของเรา จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันในห้องเรียนของทุกคน ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์จากโครงการของเราสู่คุณครูทั่วประเทศ

หัวใจคือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและเด็ก
เจต – อภิวิชญ์ รินทพล ครูอาสาสมัคร สอนเด็กตาบอดถ่ายภาพ หนึ่งในครูที่เข้ารับการอบรมบอกกับเราว่าการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะเขาเห็นชื่อกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยสิ่งที่เขามองหาคือเทคโนโลยีรอบตัวที่เราอาจจะสามารถนำมาและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้กับเด็กๆ
“แต่สิ่งสำคัญที่ได้รับกลับไปค่อนข้างจะเกินคาด เราคิดว่าจะเป็นการมานั่งอบรมสัมมนา แต่วันนี้เรามีโอกาสได้หยิบจับและลงมือทำอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน”
สำหรับเขา หัวใจของการสอนเด็กตาบอดถ่ายภาพ มีปลายทางอยู่ การทำให้เด็กสามารถทำ “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้” และการอบรมครั้งนี้ยิ่งจะช่วยให้เขาต่อยอดการสอนถ่ายภาพของเขาให้ดีขึ้น
“เวลาคนเรานึกถึงคนตาบอดถ่ายภาพ มันเป็นไปไม่ได้เลย เด็กตาบอดเองก็คิดอย่างนั้น แต่ถ้าคุณทำให้เขาทำในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ต่อไปนี้เขาจะไม่กลัวอะไรอีกแล้ว”
“การได้มาวันนี้เป็นเหมือนการกระตุกต่อมคิดให้เรานำไปปรับใช้ ที่ผ่านมาเวลาเราสอนในกระบวนการที่เราสอนกันอยู่ ปกติเราก็จะบอกให้เด็กทำ แต่พอวันนี้ที่เรามาเรียนรู้แล้ว ผมว่าหัวใจสำคัญอยู่ที่การทำงานร่วมกันระหว่างครูกับเด็กมากกว่า หัวใจคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน ผมว่าถ้าครูคิดได้ แทนที่จะสั่ง เรานั่งลงคุยกับเขามันจะดึงศักยภาพของเขาออกมา การอบรมวันนี้บอกเราว่ามันอาจจะมีวิธีอีกเยอะแยะ ไม่ได้มีแต่วิธีการแค่ของเรา เด็กก็มีวิธีการของเขา” คุณครูอาสาฯ กล่าว

ต่างคนต่างที่มา…เรียนรู้บนพื้นฐานของความหลากหลาย
ในงานซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาเป็นการจัดอบรม 2 รอบ ให้กับคุณครู 2 รุ่น รวม 100 คน โดยเปิดกว้างให้กับคุณครูที่สนใจ ซึ่งเนื้อหาของเวิร์คช็อปเริ่มตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ที่ตั้งคำถามให้คุณครูทบทวนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ตามแนวทางการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษที่ไม่เคยมีอยู่ในการเรียนรู้แบบเดิม ตลอดจนให้แนวทางผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และการสร้างสื่อดิจิตอล (Digital Storytelling) ซึ่งก้าวข้ามการเรียนแบบเดิมและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตัวเองอยากรู้ จนสามารถสื่อสารเรื่องราวแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้คุณครูได้ทบทวนตัวเองแต่ยังเปิดโลกทัศน์ใหม่ ในวิชาชีพครูได้อย่างน่าสนใจ

อธิชญาภาณ ศรีชุติศาสตริน ครูสอนวิชาสังคมศึกษา จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย บอกว่า การอบรมครั้งนี้นอกจากจะได้ลงมือปฏิบัติ และค้นพบเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนและจะทำให้เข้าใจบทเรียนที่ซับซ้อนขึ้นแล้ว การอบรมครั้งนี้ได้พบครูจากหลายๆ ที่ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย
“เราพบว่าแต่ละโรงเรียน ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป จะนานาชาติหรือประถม จะรัฐหรือเอกชน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ บางคนมีปัญหาคล้ายๆ กับเราพอเราได้มาฟัง ได้มาเรียนรู้กัน ก็ทำให้เรามีโลกทัศน์มากขึ้น” คุณครูอธิชญาภาณกล่าวในที่สุด
จากจุดเริ่มต้นที่เล็กที่สุดคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนของโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ วันนี้ โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยความหวังว่า เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ในห้องเรียนของทุกคน!!