1

ชูเทคโนโลยีพลังงานทดแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP แม่บ้านเกษตรกรหนองปลาไหล จ.อุทัยธานี

สำนักงานพลังงานจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับ อบต.หนองไผ่ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP แม่บ้านเกษตรกรหนองปลาไหล ปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุนค่าพลังงาน และยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่งคั่ง และยั่งยืน

จังหวัดอุทัยธานี-วันนี้ (17 ตุลาคม 2560) นายวีรวิชญ์ ภมรสมิต พลังงานจังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน เพื่อลด “ต้นทุนพลังงาน” ในกระบวนการผลิตของชุมชน ที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเป็นไฟ้ฟ้า ฟืน ถ่าน แก๊ส LPG ในกระบวนการทอด นึ่ง อบแห้ง คั่ว ต้ม กลั่น โดยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างต้นแบบความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานพลังงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อส.พน.) ให้ประชาชนผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงาน โดยจะเน้นสำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมและขนาดจิ๋วของชุมชน (SMCE -Small and Micro Community Enterprise) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs – Small and Medium Enterprises ) เป็นหลัก

ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP แม่บ้านเกษตรกรหนองปลาไหล ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี โดยในกลุ่มดังกล่าวได้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์กระยาสารท ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัด แต่เดิมก่อนที่กระทรวงพลังงานจะเข้าไปส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน กลุ่มดังกล่าวมีต้นทุนค่าพลังงานในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของค่า แก๊ส LPG และค่าไฟฟ้า จำนวน 2,800 บาท/เดือน แต่หลังจากที่ทางกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตให้กับชุมชน ได้แก่ เตาชีวมวลแบบ พพ. ขนาดเล็ก จำนวน 2 ใบ และเตาประสิทธิภาพสูง (Happy Gas S-8) พร้อมตัวครอบประสิทธิภาพสูง ภายใต้งบประมาณ 48,000บาท ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง 1,200 บาท/เดือนคิดเป็น 42.85% หรือมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพียง 1,600 บาท/เดือน สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน