นาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่จากปัญหาที่ต้องเผชิญในปัจจุบันมีหลายด้าน ทำให้ขาดแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสืบทอดอาชีพนี้ เส้นทางสายเกลือจึงดูเหมือนจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ปัจจุบันพื้นที่ทำนาเกลือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าจากเอกชน และการขยายตัวของชุมชนเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการทำนาเกลือ ประกอบกับมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีเกลือสินเธาว์ และเกลือจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด
มากขึ้น
ตลอดถึงขบวนการผลิตยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเกษตรกรที่ทำนาเกลือ
จึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการนาเกลือ ตั้งแต่ขบวนการผลิต แรงงาน การแปรรูป
การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาด ตลอดถึงเพื่อการเข้าถึงการให้การช่วยเหลือจากภาครัฐ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์นาเกลือว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้หาทางช่วยเหลือเกษตรกร
นาเกลือให้สามารถดำเนินการทำนาเกลือได้อย่างยั่งยืนต่อไปนั้น ขณะนี้กรมฯ ได้สนับสนุนให้สหกรณ์เกลือรวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมนุนสหกรณ์เกลือขึ้นมา จากเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ 3 จังหวัดหลัก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จำนวน 5 สหกรณ์ รวมตัวกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ เพื่อรวบรวมธุรกิจเกลือเข้าด้วยกัน แล้ววางระบบการผลิตเกลือทั้งระบบ ตั้งแต่ขบวนการผลิตที่ได้มาตราฐาน สินค้าเกษตรที่ดี ครอบคลุมข้อกำหนดการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทุกขั้นตอนการผลิตตามข้อกำหนด เพื่อรวบรวมปริมาณที่เพียงพอ และได้คุณภาพสามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง หรือความต้องการใช้ของโรงงาน สมาคมอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป สมาคมอุตสาหกรรมแช่เผือกแข็ง และสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ได้โดยตรง เป็นการแก้ปัญหาราคาผันผวน และการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย
สำหรับมาตรฐานการผลิตเกลือนั้น ตั้งแต่มาตราฐานของน้ำทะเลที่นำมาใช้ผลิต ลักษณะและสภาพของแปลงนาเกลือที่เหมาะสม มีการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดการคุณภาพก่อนเก็บเกลือ ที่ให้ได้ผลผลิตตรงตามข้อกำหนดของผู้ซื้อ การเก็บเกลือและการปฎิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกลือ ไปจนถึงมาตราฐานการขนย้ายเกลือและเก็บรักษา
ที่สำคัญคือด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะบุคลากรที่ปฎิบัติงานต้องไม่มีอาการเจ็บป่วย ไม่เป็นพาหะนำโรค
หรือโรคติดต่อที่ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการนำผลิตผลไปบริโภคของผู้บริโภค และจะต้องมีการบันทึกข้อมูลรหัส
แปลงนาและข้อมูลประจำแปลงนาเกลือเพื่อสะดวกในการตรวจสอบย้อนกลับกรณีที่มีปัญหาได้ด้วย เป็นต้น
และเพื่อให้ทราบอย่างชัดเจนว่า ปริมาณการผลิตในแต่ละรอบการผลิตเมื่อรวมกันแล้วมีปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นก็มาพิจารณาถึงราคาขายว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่เกษตรกรที่ทำนาเกลือจึงจะไม่ขาดทุน ขณะที่มาตราฐานของผลผลิต
ก็จะต้องอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้มีการปรับปรุงในเรื่องของคุณภาพอย่างทั่วถึง ด้วยบางสหกรณ์ปัจจุบันมีโรงปรับปรุงเกลือ แต่บางสหกรณ์ยังไม่มี ก็จะให้เกิดการเชื่อมโยงเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกัน
และกัน และให้ตรงตามความต้องการของตลาดด้วย เช่น เกลือเพื่อการบริโภค เกลือเพื่อการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ
เช่น ด้านสปา และเกลือเพื่อการใช้ประโยชน์ในขบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
“ อย่างเกลือที่นำมาผสมในอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีความต้องการขนาดเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันทางสหกรณ์จังหวัดมีงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเข้าไปพัฒนาในส่วนนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาขบวนการผลิต เช่น โรงล้างเกลือ โรงบดเกลือ และ โรงปั่นแห้งให้ได้มาตรฐาน ตลอดถึงการศึกษาวิจัยในขบวนการทำนาเกลือ ที่ปัจจุบันได้นำมาต่อยอดเพื่อปฏิบัติใช้มีในหลายพื้นที่ เช่น การปูผ้ายางแล้วปล่อยน้ำเค็มจากทะเลเข้ามา ทำให้เกลือเป็นเม็ดเร็วขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น สีสวยขึ้น รวมถึงพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอีกด้วย อาทิ ดอกเกลือเอาไปทำอาหารในภัตตาคารดีๆ หรือว่าเอาเกลือไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สปา ซึ่งเป็นงานวิจัยของหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครที่ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งทางชุมนุมสหกรณ์ต้องเตรียมผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตราฐานจะต้องเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมในภายภาคหน้า และในอนาคตเกลือก็จะเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ด้วย” นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สำหรับการทำนาเกลือนั้นใน 1 รอบการผลิต ในพี้นที่ 25 ไร่ จะได้เกลือประมาณ 250 เกวียน ราคาเกวียนละ 1,500 บาท ซึ่งเกษตรกรสามารถมีรายได้ประมาณ 375,000 บาท ต่อ 1 รอบการผลิต ซึ่งปีหนึ่งสามารถทำได้เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น โดยพื้นที่นาเกลือ จะทำกันมากในบริเวณพื้นที่ติดทะเล เช่น ตำบลบางหญ้าแพรก นาโคก บางโทรัด บ้านบ่อ บางกระเจ้า ชายทะเลของสมุทรสาคร ซึ่งเป็นดินเลนมีคุณสมบัติสามารถขังน้ำไม่ให้ซึมลงดินได้ ทั้งนี้นาเกลือที่ได้มาตรฐานจะต้องมีเนื้อที่ไม่ควรน้อยกว่า 25 ไร่ เพราะต้องใช้พื้นที่ในการบ่มเพาะและตากน้ำเค็ม โดยแบ่งพื้นที่นาออกเป็น 4 ขั้นตอน เรียกว่า นาวัง นาตาก นาเชื้อ และนาปลง การทำนาเกลือจะเริ่มในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ใช้ระยะเวลาในการผลิตประมาณ 6-7 เดือน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป
และในการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้ขบวนการผลิตเกลือของสหกรณ์เกลือตามแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นหลายฝ่ายยอมรับว่านั้นคือช่องทางแห่งโอกาสในการสร้างเส้นทางเกลือของไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับแนวหน้าของผลผลิตและตลาดรองรับอย่างชัดเจน นับเป็นทางออกทางรอดของเกษตรกรนาเกลืออย่างแท้จริง ด้วยมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบภายใต้หลักการและวิธีการสหกรณ์ ที่มวลสมาชิกคือผู้ได้รับประโยชน์ อย่างเป็นรูปธรรม